บ้านเดิมของเราน่าอยู่ ผู้สูงวัยสุขใจทุกคน: ทำอย่างไรให้การสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นเพียงแค่ฝันกลางวันของคนไทย [Part1/2]

RISE IMPACT
2 min readOct 9, 2023

--

สังคมมีความพร้อมสำหรับกลุ่มประชากรผู้สูงวัยมากน้อยขนาดไหน?

จำเป็นไหมว่าแก่ตัวไปต้องเข้าใช้บริการบ้านพักคนชราอย่างที่ใครเขาว่ากัน?

และถ้าหากว่าเราอยากสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม ไม่อยากเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางสังคมและชุมชนในตอนที่แก่ตัวลงไป เราสามารทำและรับบริการอะไรได้บ้างเพื่อแก่ตัวในบ้านเดิมอย่างมีสุขภาวะที่ดี

ในมุมมองของการอนุรักษ์ “ผู้สูงวัย” พวกเขาคือผู้สะสมภูมิปัญญา ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจที่มีคุณค่าทางจิตใจและสังคมในแบบเฉพาะที่สามารถถ่ายทอดส่งต่อถึงกันได้ในมนุษย์เท่านั้น

พวกเขาเคยเป็นแรงงานที่สำคัญต่อการขยับขับเคลื่อนประเทศในวัยที่มีแรงทำงานไหวการทำงานที่อาจยาวนานเป็นเวลาถึง 30–35 ปี และบางคนอาจมากกว่านี้เป็นเหมือนกับเส้นชัยที่ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนกับเขาวงกตที่ต้องฝ่าฟัน ในช่วงท้ายของการเดินทาง วันที่พวกเขาจะวางมืออาจไม่ใช่วันที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับเป็นวันที่เหนื่อยจนหมดแรงกายและใจจนเกินสู้ต่อ

ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย

การวางแผนเงินออมหลังเกษียณเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนที่ทำอาชีพรับจ้างรายวัน หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่บางครั้งพวกเขาไม่อาจจินตนาการถึงได้สักครั้งด้วยซ้ำ จึงต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าจะมีเงินเก็บที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในอนาคต แต่ไม่ว่าจะเก็บออมเท่าไรก็นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีเงินออมหลังเกษียณที่สูงพอจะหยิบจับใช้จ่ายได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องกังวล

เพราะเมื่อย่างเข้าช่วงสูงวัยค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็มากตามอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี อย่างสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างปัจจัย 4 ผู้สูงอายุบางคนต้องคิดแล้วคิดอีกซ้ำไปมาก่อนจะตัดสินใจแบ่งเงินไปใช้จ่ายในสิ่งเหล่านั้น ทั้งอาหารเพื่อประทังชีวิต ยารักษาโรคและชุดอุปกรณ์ทำแผล เครื่องนุ่งห่มที่จำเป็น

เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นภาพชัด ๆ ว่าในหนึ่งเดือนผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เราขอยกตัวอย่าง ดังนี้

  • ข้าวปลาอาหาร
    ค่าครองชีพที่สูงทำให้ร้านข้าวราดแกง ร้านอาหารตามสั่งมีราคาเริ่มต้นเฉลี่ยที่ 45 บาท ไปจนถึง 55 บาท สำหรับเมนูหมู หากผู้สูงวัยต้องการประหยัดค่าครองชีพในส่วนนี้ก็ต้องหันหน้าพึ่งพิงอาหารสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อที่มีราคาต่ำกว่า เฉลี่ยอยู่ที่กล่องละ 35 บาทแต่แลกมากับคุณค่าทางโภชนาการที่ต่ำ และโซเดียมสูง หากพวกเขาพึ่งพิงอาหารสำเร็จรูปในขั้นต่ำวันละ 2 มื้อ จะเสียเงินกว่า 2,100 บาท/เดือน ไปกับค่าอาหารไม่รวมน้ำสะอาดสำหรับดื่มกิน
  • ผ้าอ้อมผู้ใหญ่
    ราคาเริ่มต้นที่ 249 บาทขึ้นไปต่อจำนวน 1 โหล และแน่นอนว่าจำนวนเพียงแค่ 12 ชิ้นใช้ได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เต็ม ดังนั้นจะหมดเงินกว่า 747 บาท/เดือน สำหรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่จำนวน 3 โหล
  • ค่าเดินทางเพื่อพบแพทย์
    ผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวต้องเข้าพบหมออย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ค่าใช้จ่ายตรงนี้อาจเป็นส่วนที่อยู่ในเงามาตลอด เพราะหลายคนมักหลงลืมไปว่าทุกครั้งที่เดินทางไปหาหมอ แม้จะใช้สิทธิการรักษาที่ภาครัฐมีให้บริการ ก็ไม่ได้หมายความเขาจะไม่เสียอะไรเลย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าบ้านใกล้หรือไกล ถ้าใกล้หน่อยนั่งรถเมล์โดยสารต่อเดียวถึงค่าใช้จ่ายจะเริ่มต้นที่ 14 บาท แต่หากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือไม่มีบริการขนส่งมวลชน จำเป็นต้องใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์หรือรถรับจ้าง ค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ก็อาจสูงถึง 100–300 บาท ต่อครั้ง/เดือน

ตัวอย่างทั้งสามเป็นเพียงค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่มีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำโดยรวมสูงถึง 2,947 บาทต่อเดือน/ผู้สูงวัย 1 คน ซึ่งมากกว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขั้นแรก 600 บาท ถึงเกือบ 5 เท่า เห็นได้ชัดเจนว่าเบี้ยยังชีพนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ผู้สูงอายุจึงต้องนำเงินออมมาใช้ไปกับภาระค่าใช้จ่ายพื้นฐานเหล่านี้

นอกจากปัจจัย 4 ข้างต้นแล้วผู้สูงอายุบางรายที่เดินเหินไม่ค่อยสะดวก มีความจำเป็นต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันเพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต แต่ไม้เท้าค้ำยันชนิดที่มีกันลื่น ทนทานมั่นคงเพื่อใช้ค้ำและก้าวเดินนั้นมีราคาสูงถึง 500 บาท แต่เพราะมวลกระดูกลดลงหรือภาวะกระดูกพรุนมากขึ้นในผู้สูงวัย เมื่อล้มแล้วก็ทำให้สะโพกร้าว จนอาจทำให้ป่วยติดเตียงและมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ดังนั้นการฝืนไม่ใช้ไม้ค้ำยันหรือไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายก็ก่อให้เกิดความลำบากทางด้านร่างกาย เผชิญโรค และค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาประคับประคองเมื่อติดเตียง

และปัจจัยสุดท้ายคือที่พักอาศัยที่ปลอดภัย ที่พักที่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้ชีวิตและการเคลื่อนที่มากขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยชราบ้านที่เสียเงินผ่อนมาก็ดันมีสภาพกลางเก่ากลางใหม่ หรือบางครั้งก็ทรุดโทรมลงไปเลย ทำให้มีสภาพที่ยากต่อการอยู่อาศัยยังไม่นับรวมการขาดอุปกรณ์ช่วยเหลือการดำรงชีวิตอย่างพวกราวสแตนเลสสำหรับจับในห้องน้ำ

ผู้สูงวัยบางคนที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงตั้งแต่ติดบ้านจนถึงติดเตียง ต้องอาศัยการดูแลจากครอบครัว แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะสามารถดูแลได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อพวกเขาไม่อยู่ก็เสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย

หากจ้างผู้ดูแลก็จะมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 5,000 บาท/เดือน ในบางครอบครัวที่ต้องการจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้ดูแลก็เป็นเหตุให้ต้องลาออกจากงานมาดูแลระยะยาว ซึ่งทำให้เสียรายได้ขั้นต่ำกว่า 12,000–15,000 บาท/เดือน คนที่ไม่ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอาจไม่เข้าใจ ‘สถานการณ์ที่ไร้ตัวเลือก’ เพราะการดูแลพ่อแม่ยามแก่ชราคือสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่สิ่งที่เลือกได้ของหลาย ๆ ครอบครัวในสังคมไทย

Photo by Jsme MILA : https://www.pexels.com/photo/seniorka-na-koleckovem-kresle-16364306/
Photo by Jsme MILA : https://www.pexels.com/photo/seniorka-na-koleckovem-kresle-16364306/

แต่ถ้าจะลองดูตัวเลือกสถานบริการบ้านพักคนชราล่ะ? บ้านพักคนชราภาครัฐคือตัวเลือกลำดับต้น ๆ ด้วยค่าบริการที่เข้าถึงสำหรับหลาย ๆ ครัวเรือนที่มีค่าใช้รอบทิศทาง ทั้งค่าดูแลผู้สูงวัยและครอบครัวที่ยังอาศัยด้วยกันในบ้าน แต่บ้านพักคนชราของภาครัฐนั้นมีจำนวนเพียง 12 แห่ง เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของประชากรสูงวัย แน่นอนว่าไม่มีทางเพียงพอต่อผู้ประสงค์เข้ารับบริการ แต่จะหันหน้าพึ่งเอกชนก็เป็นตัวเลือกที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับครอบครัวที่ไร้เงินออม หรือมีรายได้น้อย

และไม่ใช่ทุกคนที่วาดฝันว่าจะมีครอบครัว มีลูกหลานเพื่อให้ดูแลตนยามแก่เฒ่า บางคนนั้นถึงขั้นวางแผนไว้เลยว่า ‘ฉันจะอยู่บ้านพักคนชราเมื่อแก่ตัวลง’ เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ดี ในสถานที่พักอาศัยที่เป็นมิตรยามสูงวัย มนุษย์วัยทำงานหลายคนตั้งหน้าตั้งตาตรากตรำทำงานเก็บเงินวางแผนเข้ารับบริการบ้านพักคนชราของภาคเอกชนยามเกษียณ แต่ไม่มีอะไรการันตีว่าเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเกษียณแล้วเงินที่มีจะยังเพียงพอสำหรับค่าบริการอยู่ไหมด้วยอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน ๆ เมื่อถึงเวลาพวกเขาอาจไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างที่หวัง

ถ้าโชคดีได้โควต้าเข้ารับบริการบ้านพักคนชราของภาครัฐ หรือเข้าถึงบริการของส่วนเอกชนได้ในราคาที่เข้าถึง และไม่เดือดร้อนเงินเก็บ จะมีอะไรการันตีเล่าว่าชีวิตที่สถานที่นั้นจะทำให้เรา ‘แก่ตัวได้อย่างสุขใจ’ เพราะสุขภาพจิตคือหนึ่งปัญหาที่หลายครอบครัวลืมคิด การที่ผู้สูงวัยต้องจากบ้านที่คุ้นชิน ครอบครัว ชุมชน และสังคมที่คุ้นเคย สิ่งเหล่านี้ได้ยึดโยงเข้ากับสภาพจิตใจให้พวกเขายังใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีความหวัง และมีกำลังใจเพื่อใช้ชีวิตต่อไปได้ในวัยชรา แต่เมื่อต้องจากไปอยู่แยกกัน ก็อาจป่วยใจจนร่างกายทรุดได้

นี่คือ ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ของผู้สูงอายุชาวไทย เพียงแค่มีเงินให้พอดำรงชีวิตรายวันยังนับเป็นเรื่องยาก การมีชีวิตสูงวัยที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ไกลตัวพวกเขามาก ๆ แนวคิดการสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมได้อย่างมีสุขภาวะ (Aging in Place) จึงอาจเป็นทางออกของปัญหาที่สร้างความเจ็บปวดทางใจ ความเครียด ความกังวล ของทุกครอบครัวในสังคมไทยที่ไม่อาจหลีกหนีปัญหาเหล่านี้ได้

อ่านตอนต่อไป: บ้านเดิมของเราน่าอยู่ ผู้สูงวัยสุขใจทุกคน: ทำอย่างไรให้การสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นเพียงแค่ฝันกลางวันของคนไทย [Part2/2]

เรียบเรียงโดย พรพิชชา ตันตระวาณิชย์

ศึกษาเรื่องราวกระบวนการการหาคำตอบ เพื่อพัฒนานโยบายและบริการปรับบ้านให้ตอบโจทย์บริบทสังคมไทยมากขึ้น
https://policy-dialogue.riseimpact.co/project/aip

เรื่องราวการปรับบ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้กับผู้สูงวัย — ผู้สูงอายุ กับการปรับสภาพบ้านที่สร้างชีวิตใหม่
https://riseimpact.medium.com/ผู้สูงอายุ-กับการปรับสภาพบ้านที่สร้างชีวิตใหม่-b4485fea0544

--

--