ผู้สูงอายุ กับการปรับสภาพบ้านที่สร้างชีวิตใหม่

RISE IMPACT
2 min readDec 9, 2022

--

เคยคิดไหมว่าตอนแก่ตัวไป เราจะมีชีวิตแบบไหน?

พร้อมหน้าพร้อมตาด้วยลูกหลานที่บ้านหลังใหญ่ สะดวกสบาย

อยู่คนเดียวลำพังที่บ้านผุพัง

อยู่กับญาติเบียดเสียดในบ้านหลังเล็ก

หรือ อยู่ที่บ้านพักคนชราของรัฐ?

และอีกหลากหลายความเป็นไปได้

เราทำได้เพียงคาดเดา มีความหวัง และอดออมเงินไว้เป็นหลักประกันว่าตอนชราจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ที่บ้านพักคนชรามีบริการเพรียบพร้อม หรือมีบ้านของเราที่เหมาะสมกับการอยู่ตอนชรา

แต่จะดีกว่าไหม? ถ้าเรามีชีวิตยามชราที่มีคุณภาพเพราะเราได้รับสวัสดิการจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ปลอดภัย

เพราะบ้านคือศูนย์กลางของความปลอดภัย เราไม่อาจมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพ ปลอดความกังวลได้เลย หากเราไม่มีบ้านที่มอบความอุ่นใจให้เราได้

บ่ายแก่ ๆ ของวัน เราเดินทางมาถึงซอยหนึ่งย่านใจกลางเมืองหลวง ได้เจอกับคุณป้าสายลม (นามสมมติ) ที่ได้รับการปรับสภาพที่อยู่อาศัยโดยความร่วมมือของสำนักงานเขตและหน่วยงานรัฐอื่นๆ

ลักษณะของบ้านคุณป้าในตอนนี้คือบ้านสองชั้น มีรั้วรอบขอบชิดและบริเวณแคบๆ ก่อนถึงตัวบ้าน ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนประกอบด้วยแผ่นยิปซัมทั้งพื้นและผนัง หน้าต่าง บันได ส่วนประกอบอื่นๆ ยังเป็นไม้สักดั้งเดิม แต่ทั้งหมดไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีนัก เรียกได้ว่าเก่าคร่ำคร่าตามอายุขัย

บ้านของคุณป้าสายลมเมื่อดีต ชั้นบนมีแต่ปลวก ไม้ที่ปูพื้นแทบไม่เหลืออยู่ และพร้อมถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ

พวกเราเรียกคุณป้าสายลมอยู่ไม่เกินสองนาที คุณป้าก็เดินออกมาเปิดประตูให้ ภาพที่เราเห็นคือหญิงชราวัย 76 ปี ร่างกายผ่ายผอม หลังค่อมเล็กน้อย ใบหน้ามีริ้วรอยตามวัย เดินเชื่องช้าทว่าคล่องแคล่วออกมารับเราพร้อมรอยยิ้ม

คุณป้าสายลมคืออดีตคุณครูโรงเรียนอนุบาลเอกชน อาศัยอยู่กับคู่สมรสตามลำพัง ไม่มีครอบครัวหรือลูกหลาน ส่วนคู่สมรสหรือคุณลุงนั้นเป็นอดีตคุณครูโรงเรียนสายอาชีพ ตอนนี้ไม่สามารถทำงานได้แล้ว จึงมีรายรับจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการเท่านั้น ซึ่งเบี้ยความพิการนี้เป็นของคุณลุงที่มองเห็นเพียงแสงและไม่ได้ยินเสียงโดยสิ้นเชิง นั่นหมายความว่าคุณป้าสายลมต้องเป็นผู้ดูแลคุณลุงไปโดยปริยาย แม้ว่าคุณป้าเองได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไทรอยด์

คุณป้าสายลมเล่าว่าคุณป้าเป็นคนดูแลเองทุกอย่าง ทั้งเรื่องของตัวเองและคุณลุง เดินทางด้วยรถเมล์เพื่อพบแพทย์ ซื้ออาหาร ทำความสะอาดบ้าน อาบน้ำ ทำกับข้าว ไปจนถึงเรื่องการยื่นสิทธิเพื่อรับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ เพราะคุณป้ายังคงสามารถมองเห็น ฟังชัด อ่านหนังออก สามารถรับข่าวสาร และเดินทางไปเพื่อยื่นเรื่องได้ด้วยตนเอง รวมถึงการยื่นเรื่องเพื่อขอปรับสภาพบ้านนี้ด้วย

“เกือบจะหมดหวังไปแล้ว” คุณป้าสายลมกล่าว

พวกเราถามคุณป้าสายลมและได้ความว่าคุณป้ารับรู้เรื่องสิทธิการยื่นคำร้องเพื่อขอปรับสภาพที่อยู่อาศัยจากสื่อ จึงได้ไปยื่นที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าหน่วยงานใด หลังจากนั้นคุณป้าต้องรอประมาณสามปีจึงได้เริ่มดำเนินการ

แต่ว่าก็ไม่ได้มาจากคำร้องเมื่อสามปีก่อนที่คุณป้าได้ยื่นไว้ เนื่องจากพี่เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่าทางชุมชนและเขตได้มาเจอบ้านหลังนี้จากการลงพื้นที่ และให้คุณป้าเขียนคำร้องใหม่จึงได้ดำเนินการ

นั่นหมายความว่าคำร้องที่คุณป้ายื่นไปเมื่อสามปีก่อนหน้านี้นั้น ปลิวหายสลายเข้ากลีบเมฆ

และถูกพบอีกครั้งโดยการลงพื้นที่ของสำนักงานเขตและคนในชุมชน

แม้ว่าสภาพบ้านจะไม่ได้เหมือนบ้านที่สร้างใหม่ แต่ก็ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้แก่คนที่รอคอย

ทางเขตได้ดำเนินการรับคำร้อง รวบรวม ส่งต่อกรมกิจการผู้สูงอายุ พม. เพื่อดำเนินการของบประมาณ หลังจากนั้นจึงหาทีมช่าง ประเมินราคาวัสดุ ประสานงานกับหลายฝ่ายเพื่อลงมือซ่อมแซมบ้าน จากพื้นไม้ผุพัง ปูใหม่ด้วยแผ่นยิบซัม ทำความสะอาดกำจัดปลวก ทำโครงสร้างให้แข็งแรงขึ้น ป้องกันการหล่นลงมาทับคุณป้าและคุณลุงที่อาศัยอยู่ชั้นล่าง

“ดีมาก ปรับแล้วดีมากๆ เหมือนเกิดใหม่”

บ้านหลังนี้ปรับสภาพมาได้ 2–3 ปีแล้ว คุณป้าสายลมเล่าว่า แม้ไม่ได้ขึ้นไปใช้งานเป็นหลัก แต่คุณป้าอุ่นใจมากขึ้น ไม่ต้องกังวลหรือกลัวอุบัติเหตุร้ายแรง กันแดดกันฝน เป็นที่พักพิงอันปลอดภัยสำหรับคุณป้าได้ พวกเราแทบนึกไม่ออกเลยว่า ตอนที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมนั้น ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวทั้งสองท่านจะอยู่กันอย่างไรในสภาพแบบนี้

ด้วยความกังวลว่ามันจะตกลงมา การได้รับการปรับสภาพบ้านจึงเหมือนได้ต่อชีวิต เป็นความหวังของการมีชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนแก่ชราที่มีข้อจำกัดทางด้านสุขภาพร่างกาย สามารถดูแลกันเองต่อได้ไม่อยากลำบากนัก อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงานเขตจะดำเนินการเต็มที่ แต่งบประมาณที่ได้รับก็ไม่เพียงพอ จึงยังไม่ได้ปรับในส่วนห้องน้ำซึ่งมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

การปรับสภาพที่อยู่อาศัย นโยบายที่จำเป็นและต้องพัฒนาต่อ

จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมาทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร บ้านที่พวกเราพบเจอมีอายุเท่าๆ เจ้าของบ้าน หรือราวๆ 70–80 ปี หรืออาจมากกว่านั้น เป็นบ้านดั้งเดิมที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นก่อน ผุพัง ไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ แถมยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในตัวบ้านและบริเวณ ซึ่งอาจเป็นที่มาของความพิการได้

สะท้อนให้เห็นว่า มีผู้สูงอายุที่ต้องการการปรับสภาพที่อยู่อาศัยอยู่จริง และนโยบายนี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

นโยบายนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิดการอยู่อาศัยในถิ่นที่อยู่เดิม หรือ Aging in place ที่เน้นให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยในบ้านหรือชุมชนเดิมได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบ้านพักคนชราทั้งของรัฐที่ไม่เพียงพอและเอกชนที่ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป

นอกจากนั้น ผู้สูงอายุจะรู้สึกปลอดภัยเมื่ออาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง ไม่คุ้นชินเมื่อเปลี่ยนที่อยู่ เช่น กรณีคุณลุงสามีคุณป้าสายลมที่มองไม่เห็นแต่ยังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดิมได้ เพราะความเคยชิน สามารถคลำทางได้ คุณป้าเองก็ดูแลสามีได้สะดวกเพราะเป็นบ้านของตน รู้ที่ทางข้าวของ

แต่ประเด็นคือ ปัจจุบันน่าจะยังมีกรณีแบบคุณป้าสายลมอีกจำนวนมาก

อนุมานจากการลงพื้นที่ในหนึ่งจังหวัด ก็พบความต้องการการปรับสภาพบ้านปีละ 30–40 หลังคาเรือน กล่าวคือ ยังมีผู้สูงอายุที่ต้องการการปรับสภาพบ้านให้สามารถใช้ชีวิตในบ้านได้ หรืออาจมีสภาพที่แย่กว่าคุณป้าสายลม เช่น เงื่อนไขทางร่างกายและการเงินไม่เอื้อต่อการออกจากบ้านไปยื่นคำร้อง หรือไม่ได้รับข่าวสารจากทางรัฐ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือทำงานมาตลอดชีวิตก็ยังมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับการปรับบ้านด้วยตนเอง เพราะต้องใช้กินอยู่และรักษาสุขภาพ

“บ้านหลังนี้อยู่มาหลายสิบปี มันก็ควรแก่เวลาที่มันจะผุพัง” คุณป้าพูดด้วยความเข้าใจสัจธรรม

และแม้จะมีนโยบายนี้ออกมา มีการประชาสัมพันธ์ให้ยื่นคำร้อง แต่งบประมาณที่มีก็ยังไม่เพียงกับค่าแรงช่าง ค่าวัสดุ รวมถึงขั้นตอนการดำเนินงานมาก ใช้เวลานาน ส่งผลต่อจำนวนบ้านที่สามารถปรับสภาพได้ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการที่มีอยู่

ส่วนในเชิงคุณภาพ บางแห่งก็ยังไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ หากภาครัฐหันมามองนโยบายนี้อย่างจริงจัง เพิ่มการเข้าถึงประชาชน ลงทุนกับความปลอดภัยของประชาชนคงจะดีไม่น้อย และหากมองไปถึงอนาคตระยะยาวสำหรับยุทธศาสตร์สังคมสูงวัย การปรับบ้าน เช่น ต่อเติมราวจับ ทำพื้นกันลื่น ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงหกล้มในบ้านก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

“คนเราหนีไม่พ้นความแก่ แต่จะแก่ยังไงให้สุขใจ” เป็นคำกล่าวจากคุณป้าสายลมที่ช่วยเติมความหวัง พวกเราคิดว่าหากความสุขใจนั้นหมายถึงการมีชีวิตที่อยู่รอดปลอดภัย มีบ้าน มีข้าวกินทุกมื้อ นี่ก็คือการมีคุณภาพชีวิตยามบั้นปลายที่เหมาะสม รัฐต้องมีส่วนช่วยทำให้เกิดผ่านบริการหรือสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุม เพียงพอ รวมถึงการทำงานของข้าราชการที่เข้าถึงประชาชน

บทความและภาพโดย : เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ

--

--