เสียงดนตรีแห่งการปลดแอกตัวตน ที่มอบบทเรียนให้กับ เม-ศิรษา ผู้ร่วมก่อตั้ง Hear & Found ธุรกิจเพื่อสังคม

RISE IMPACT
3 min readOct 27, 2023

--

เสียงและดนตรีสามารถสะท้อนวัฒนธรรม หรือตัวตนผ่านการสื่อสารหลายรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ การขับร้อง การเล่นเครื่องดนตรีของคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะเดียวกัน สรรพเสียงเหล่านี้ ก็ไร้เขตแดนในการรับรู้ และยังสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่มีวัฒนธรรมต่างกัน โดยเฉพาะดนตรี

ยกตัวอย่างเช่น คนไทยก็รับรู้และมีประสบการณ์ร่วมไปกับเพลงสากลได้ไม่ว่าเพลงนั้นจะอยู่ในภาษาใด อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งดนตรีจาก ‘กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง’ ในประเทศไทยที่อัตลักษณ์ของพวกเขาได้ถูกเล่าขานผ่านเสียงดนตรี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตนเองทั้งในเชิงความเป็นอยู่ กิจกรรมรวมใจคนในชุมชน หรือการสื่อสารเพื่อปลดแอกตัวเองจากตัวตนที่โดนกดทับจากสิ่งที่คนในสังคมต้องการให้เป็น

ศิรษา บุญมา หรือ เม นักออกแบบประสบการณ์การฟัง และผู้ร่วมก่อตั้ง Hear & Found ธุรกิจเพื่อสังคมที่หวังใช้ ‘เสียงและดนตรี’ แก้ไขปัญหาสังคม ส่งเสริมอิสรภาพให้กับกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมือง ให้พวกเขาได้เป็น และบอกเล่าในสิ่งที่เขาเป็นได้อย่างภาคภูมิใจ Hear & Found ก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วจากวันแรกจนถึงปัจจุบัน และการปรับตัวยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความตั้งใจที่จะทำให้ธุรกิจ และทีมที่เติบโตมากขึ้น

ไรซ์ อิมแพคจึงชวนเม มาพูดคุยถึง พื้นที่ ตัวตน ดนตรี และความเป็นผู้ประกอบการ Hear & Found เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์และมุมมองการทำงานในฐานะผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่สร้าง Social Impact หรือผลลัพธ์ทางสังคมไปถึงกว่า 220,000 คนผ่านการทำนิทรรศการ การท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงการสื่อสารเรื่องราว เสียง และดนตรีผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Hear & Found

เขตแดน เสียง ดนตรี และเพศ

เมื่อพูดถึง ‘ดนตรี’ ตัวคุณเม โตมากับประสบการณ์ส่วนตัวที่ก่อตั้งวงดนตรีหญิง ทำให้เริ่มแรกเธอเคยประสบกับแนวคิดที่ว่า วงดนตรีหญิงล้วนมีความเท่ เก๋ไก๋ และเฉพาะตัว นั่นเพราะ ในยุคหนึ่ง วงดนตรีหญิงล้วนแนวร็อคอาจไม่ใช่บทบาทของผู้หญิง แต่เป็นธรรมดาทั่วไปที่จะเห็นวงดนตรีแนวนี้เป็นวงชายมากกว่า ซึ่งอาจเป็นบรรทัดฐานที่แบ่งแยกระหว่างเพศและความสามารถออกจากกัน โดยส่วนตัวเธอเชื่อว่าไม่ว่าจะเพศไหนก็มีสิทธิในการแสดงออกความสามารถ โดยแนวคิดของการไม่แบ่งเพศและความสามารถเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น เมื่อเธอได้ออกเดินทางสัมผัสชีวิตในสังคมที่แตกต่าง

“อย่างกลุ่มสังคมชนเผ่าพื้นเมือง เช่นกลุ่มปกาเกอะญอ เธอได้พบกับศิลปินทั้งเพศชายและเพศหญิงที่เล่นเครื่องดนตรีเตหน่ากู (พิณของชนเผ่าปกาเกอะญอ) — ยกตัวอย่างเช่น แม่ยะโพ ชุมชนบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่เขาเล่นเตหน่ากูในยามว่าง และ ยังใช้ดนตรีสื่อสารเรื่องราวของเขา และมีบางครั้งที่แม่ยะโพก็บอกเล่าเรื่องราวของตนเองสู่สาธารณะชนผ่านดนตรี เกี่ยวกับกรณีใจแผ่นดิน

“แคน อีกหนึ่งเครื่องดนตรีของชุมชนนี้ ที่ถูกนำมาเล่นกันในชุมชน เพื่อความครื้นเครง รื่นรมย์” โดยเมเล่าวา บรรยากาศในคืนนั้น เป็นเวลาที่หาได้ยาก ที่คนในชุมชนจะรวมตัวกัน นั่งคุย นั่งเล่นกัน โดยมีดนตรีเป็นศูนย์กลาง บ้างก็ผู้ใหญ่นำมาเป่า เด็กๆ ก็นำมาลองเล่นกันสนุกสนานเธอเสริมว่า “การได้เห็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะเพศไหน อายุเท่าไร แค่หยิบเครื่องดนตรีขึ้นมา ไม่กลัวที่จะเล่น ก็เป็นสัญญาณของการอยู่รอดของวัฒนธรรมทางดนตรีนั้นแล้ว”

เมเล่าไปถึง หมู่บ้านห้วยหินดำ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่พบปัญหาที่ดินทำกินกับองค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งพวกเขาต้องการใช้วิถีชีวิตแบบเดิมในพื้นที่ที่เขาอยู่ โดยมีกลุ่มผู้หญิงตัวแทนของชุมชนนี้ที่เรียกร้องสิทธิกับภาครัฐด้วยความกล้าหาญ โดยคนในชุมชนเล่าว่า “ความอ่อนโยนของผู้หญิง มีส่วนทำให้การทำงานในด้านนี้สามารถลดความขัดแย้งที่รุนแรงลงได้”

“นอกจากนี้ ทางชุมชนยังมีการปรับตัวทำกิจกรรมด้วยวิธีการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวกระเหรี่ยงโผลว์ผ่านกิจกรรม ย้อมผ้าสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดต่อกันมา หรือการทำเกษตรอินทรีย์ที่เน้นความหลากหลายของพืชผัก พันธุ์ไม้ต่างๆ ที่เกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ทางชุมชนมีบทเพลงขับร้อง ที่สื่อสารความหวงแหน วัฒนธรรม วิถีชีวิตอันดั้งเดิมที่มีความมั่นคง ทั้งทางอาหารการกิน องค์ความรู้ หรือภูมิปัญญาการ ที่เขาต้องการรักษาไว้ให้รุ่นลูกสืบทอดต่อไป” เมย้ำถึงสิ่งที่เธอพบเจอ “สิ่งนี้แหละคือ Soft Power ที่แข็งแรง และสามารถนำไปต่อยอดเป็นโอกาสในหลายๆด้านที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของเขาได้”

คุณรักษ์ Hear & Found Co-founder (ด้านขวา): ขอขอบคุณรูปภาพจาก Hear & Found

“เราอยากส่งเสริมให้ทุกคนได้มีอิสรภาพในการเป็นตัวเอง นี่แหละแพชชั่นของเรา”
คือเหตุผลหนึ่งของเมในการทำ Hear & Found เมื่อแพชชั่นของเธอและทีม ประกอบกับความสามารถในการทำงานด้านเสียง ดนตรี และการเล่าเรื่อง จึงทำให้เกิดพื้นที่เพื่อ ให้เสียงที่มีความหลากหลายเกิดขึ้นได้ในสังคม เช่น ทุกคนสามารถคุย และแสดงออกถึงสิ่งที่ตนเองเป็นได้ และเพื่อเปิดโอกาสให้เรื่องราวที่คนทั่วไปอาจไม่เคยรู้ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ วัฒนธรรม หรือปัญหาสังคมเชิงโครงสร้างที่คนชนเผ่าพื้นเมืองต้องพบเจอ เช่น การไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม การไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน การถูกเลือกปฏิบัติ เป็นต้น ให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึงและเข้าใจได้มากขึ้น

5 ปีที่ไม่หยุดนิ่งเพื่อไปต่ออย่างมั่นคงมากขึ้นของ Hear & Found

เมเผยว่าจากวันที่เริ่มต้นทำธุรกิจเลือกรูปแบบทำงานอีเวนท์ ทำให้พึ่งพาการจัดงานแบบ in-person experience มาโดยตลอด ทำให้ต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องรูปแบบธุรกิจที่ยังไม่ยั่งยืนพอทางการเงิน ช่วงนั้นได้รับความเป็นห่วงจากหลาย ๆ คนและเมื่อพบเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่องานอีเว้นท์โดยตรง ทำให้ต้องค้นหารูปแบบใหม่และปรับเปลี่ยนการทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงให้ทีมและธุรกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

World Music Event: ขอขอบคุณรูปภาพจาก Hear & Found

เธอเล่าให้เราฟัง “ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรากับทีมได้พูดคุยกันในเรื่องของสุขภาพและเวลามากขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ในช่วงปีแรก ๆ ที่เริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้นมาตอนนั้นเรายังทำควบคู่ไปกับงานประจำ มันเลยทำให้เราต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ก็เรียกได้ว่า overwork มาก ๆ เพราะอยากให้มัน work”

ทำให้เธอได้เห็นความสามารถในการปรับตัวสู่ลู่ทางใหม่ที่หลากหลายมากขึ้นของ Hear & Found ร่วมกับพี่ ๆ จากกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ในขณะเดียวกันเธอและทีมก็ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงาน เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนส่วนตัวมากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะburn out ให้ทุกคนมีแรงที่มั่นคงในการแก้ไขปัญหาต่อไป

นิทรรศกาล Sound of the Soulที่ หอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC): ขอขอบคุณรูปภาพจาก Hear & Found
เสียงจากธรรมชาติสู่ประปาแม้นศรี ในงานนิทรรศกาล Bangkok Design Week:Light and Sound : ขอขอบคุณรูปภาพจาก Hear & Found

“ความสัมพันธ์ของเรากับพี่ ๆ ชนเผ่าพื้นเมืองก็ยังเป็นเพื่อนกัน ตั้งแต่วันแรกที่รู้จักกันจนถึงวันนี้”

เมเล่าต่อ “เราทำเรื่องดนตรีก็จริง แต่บางชุมชนเขาไม่พร้อมเรื่องดนตรี เราก็ชวนเขาสื่อสารด้วยเสียงธรรมชาติจากชุมชนเขา เวลาที่เขาได้มาดูงานของเขาด้วยตัวเองในงานนิทรรศการที่กรุงเทพ ก็ทำให้ทั้งเขาและเราใจฟู พี่เขาได้ยินเสียงธรรมชาติเหมือนที่บ้านของเขา และภูมิใจในสิ่งที่บ้านเขามี และรายได้ที่ได้รับมาก็ถูกแบ่งให้กับศิลปิน และชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองด้วย” เธอเล่าว่ามันคือการเติมเต็มความสุขของกันและกัน

World Music Event: ขอขอบคุณรูปภาพจาก Hear & Found

“อย่ากลัวที่จะลงมือทำ และ ขอให้โอเคกับความไม่สำเร็จ”

เมื่อเราถามถึงบทเรียนจากประสบการณ์ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Hear & Found ของเม เธอบอกว่าเรียนรู้ และการลงมือทำเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ และเปิดเผยว่าเพราะตัวเธอนั้นจะมีบุคลิกภาพรักความสำเร็จ หรือ perfectionist คนหนึ่ง การเอาชนะความกลัวการเริ่มต้นจึงเป็นความท้าทายหนึ่ง

“เราจะไม่ทำเลยถ้าแผนในหัวเรามันไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ตั้งใจ แรก ๆ ก็กลัวการลงมือทำเพราะกลัวความล้มเหลว แต่เราก็ฝึกที่จะทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อ small achievement หรือความสำเร็จเล็ก ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ เมื่อคิด หรือมีไอเดียอะไรก็ตามให้ลองหาพื้นที่ลงมือทำ ให้เกิดผลสะท้อนกลับ”

“อีกอย่างคือความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรา ทีม คนทำงาน ชุมชน และลูกค้า เพื่อสื่อสารถึงสิ่งที่เราทำได้และไม่ได้ และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว เพราะการแก้ปัญหาทางสังคมระยะยาว ต้องร่วมมือด้วยกันจากหลาย ๆ ฝ่าย ความไว้เนื้อเชื่อใจต้องแข็งแรงมาก ๆ เพื่อผสานพลังเพื่อให้มองเห็นคุณค่า เข้าอกเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ไปด้วยกัน”

นี่คือสิ่งที่เม ศิรษาได้เก็บประสบการณ์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของเธอ และแบ่งปันบทเรียนในฐานะผู้ประกอบการเพื่อสังคมกับเราและผู้อ่านทุกคน เราหวังว่านักอ่านทุกคนจะได้รับแรงบันดาลใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมจากเรื่องราวนี้ไปไม่มากก็น้อย

ขอขอบคุณ คุณเม ศิรษาและคุณรักษ์ Co-founder of Hear & Found

บทสัมภาษณ์โดย: พรพิชชา ตันตระวาณิชย์

--

--