‘Golden Period’ 6 เดือนทองของการฟื้นฟูผู้ป่วยที่ช่วยลดความพิการและโอกาสการเสียชีวิต

RISE IMPACT
2 min readDec 13, 2022

บางครั้งการเจ็บป่วยอาจเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที แต่เปลี่ยนชีวิตเราไปได้ทั้งชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่มีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องในช่วง ‘Golden Period’ หรือ 3–6 เดือนแรก ก็มีโอกาสที่ความพิการจะลดน้อยลง บางรายอาจกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง

เราเลยอยากชวนมารู้จัก Golden Period วิธีการดูแลที่ถูกต้อง และแนวทางที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงกายภาพบำบัดในช่วงดังกล่าวได้มากขึ้น กับบทสัมภาษณ์ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)

‘Golden Period’ ช่วง 6 เดือนที่สำคัญไปตลอดชีวิต

นพ.ขวัญประชาเล่าว่า กลุ่มโรคที่มีความเสี่ยงเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือเกิดความพิการ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดในสมองที่เรารู้จักกันในชื่อ stroke รวมถึงกลุ่มโรคที่สมองหรือกระดูกสันหลังได้รับการกระทบกระเทือน และกลุ่มโรคกระดูกสะโพกหักที่ต้องได้รับการผ่าตัดเอ็นข้อสะโพก นอกจากจะต้องเข้ารับการรักษาให้พ้นภาวะวิกฤตแล้ว คนไข้ควรทำภายภาพบำบัดให้ครบ 20 ชั่วโมง ภายในช่วง 2–3 เดือนแรก หรืออย่างช้าที่สุดคือ 6 เดือน โดยช่วงเวลานี้เรียกว่า Golden Period

“ถ้าถามว่าเราทำช่วงหลังจาก 6 เดือนนี้ไปได้ไหม ทำได้ แต่ผลที่ได้รับจะไม่ดีเท่าในช่วง 6 เดือนแรก บางรายอาจจะไม่ดีขึ้นอีกเลย บางรายอาจถึงขนาดเสียชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอายุเยอะๆ กระดูกสะโพกหัก แล้วมาผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกสะโพก เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วต้องให้เขาหัดยืน หัดเดินใหม่ บางรายก็ไม่ได้ฝึกหัดยืน หัดเดินเลย”

“การที่เขานอนติดเตียงมันทำให้เขาป่วยมากขึ้น มีผลข้างเคียงจากการกดทับ บางรายมีอาการแทรกซ้อน เราเลยเห็นว่าระบบบริการผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care) มีความจำเป็น เพราะการมีบริการนี้สามารถป้องกันความพิการและอัตราการเสียชีวิตตรงนี้ได้ เราเลยศึกษาเรื่องนี้และพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น”

ปัญหาคือระบบบริการและการรับรู้ที่ไม่ทั่วถึง

การฟื้นฟูในช่วง Golden Period จำเป็นต้องมีนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดและนักวจีบำบัดซึ่งเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง แต่ปัญหาคือจำนวนบุคลากรเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย

เช่นเดียวกับจำนวนเตียงในโรงพยาบาลที่แออัด และอัตราการเข้าถึงการบริการกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วน ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนอกจากผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวร่างกายลำบากแล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลอีกด้วย นอกจากนี้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการฟื้นฟูช่วง Golden Period ยังไม่ได้แพร่หลายมากนักไม่ว่าจะในแวดวงการแพทย์หรือคนทั่วไป

แต่ภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้ เพราะเริ่มมีโมเดลการบริการรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องกำลังคนและจำนวนเตียง นั่นคือการจ้างนักกายภาพบำบัดจากเอกชนไปให้บริการที่บ้านของผู้ป่วยแทน

“ข้อดีคือถ้าไปที่บ้าน แล้วบริการแค่ 1 คน เขาสามารถทุ่มเทพลังให้กับเคสคนไข้คนนี้ สองคือเขาจะได้ฝึกผู้ป่วยในภาวะสภาพแวดล้อมที่เป็นบ้านจริงๆ เพราะบางทีเขาฝึกคนไข้ที่โรงพยาบาล แต่พอกลับบ้านไป บันไดที่บ้านกับโรงพยาบาลไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเขาไปฝึกที่บ้านได้ เขาก็จะสามารถปรับวิธีการฝึกให้เหมาะการดำรงชีวิตของผู้ป่วยที่บ้านได้ด้วย”

แม้จะเป็นโมเดลที่ช่วยแก้ไขปัญหาเดิม แต่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องค่าตอบแทนของนักกายภาพบำบัดเพราะสปสช. จ่ายให้กับคลินิกเอกชนครั้งละประมาณ 500–650 บาท นับว่าค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้ค่าเดินทางสูง

“ก่อนหน้านี้ ผมทำโปรเจกต์นำร่องโดยเอางบงานวิจัยจ่ายเป็นค่าบริการในกรุงเทพฯ ครั้งละ 800 บาท ก็มีเอกชนในกรุงเทพฯ ไปร่วมให้บริการ ผลก็คือผู้ป่วยได้รับบริการครบถ้วน 20 ครั้ง คนไข้ดีขึ้นจริงจนความพิการลดลง 2 ระดับอย่างเห็นได้ชัด”

นอกจากการบริหารจัดการแล้ว ในมุมของการรับรู้ ก็นับว่ามีน้อยคนที่จะเข้าใจและเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูในช่วง Golden Period

“ตอนผมทำโปรเจกต์ในกรุงเทพฯ ผมใช้วิธีโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าใครมีเคสให้ติดต่อเข้ามา เราจะส่งนักกายภาพบำบัดไปให้บริการ ก็มีคนส่งข้อความเข้ามาว่า ทำไมเพิ่งมีบริการนี้ เขาเกิน Golden Period ไปแล้ว คือคนที่รู้มักจะเป็นคนที่ป่วย หรือเขารู้แล้วว่าต้องพาไป แต่ไม่มีเงินพอจะพาไปได้ ผลก็คือเขาต้องยอมรับความพิการที่เกิดขึ้น”

“ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ ต้องบอกว่าเรื่องนี้ค่อนข้างใหม่ แล้วต้องเป็นคนที่สนใจด้านการฟื้นฟู หรือจริงๆ หมอที่รักษาโรค stroke เขาก็รู้ แต่ไม่รู้จะบอกคนไข้ให้ไปรับบริการฟื้นฟูที่ไหน เพราะระบบมันแยกส่วน ห้องกายภาพบำบัดกับหมอผ่าตัดอยู่คนละที่กัน บางโรงพยาบาล วอร์ดที่ดูแลผู้ป่วยโรค stroke กับกายภาพบำบัดไม่เจอกันเลยก็มี อันนี้เป็นโรงพยาบาลกลุ่มน้อย แต่หลายโรงพยาบาลก็เริ่มดีขึ้นแล้ว มีการประสานงานมากขึ้น บุคลากรก็จะเริ่มมีความรู้เรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ทุกคน”

2 โมเดลที่ตอบโจทย์ผู้ป่วยในไทย

นพ.ขวัญประชามองว่าโมเดลการฟื้นฟูผู้ป่วยในช่วง Golden Period หรือ 3–6 เดือนหลังพ้นระยะฉับพลัน ที่ควรจะเกิดขึ้นมี 2 รูปแบบด้วยกัน

โมเดลที่หนึ่ง คือการแอดมิดผู้ป่วยไว้ 2–4 สัปดาห์ ถ้าให้ดีที่สุดคือแอดมิดประมาณ 4 สัปดาห์หรือ 1 เดือน เพื่อให้คนไข้ได้รับกายภาพบำบัด อย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน ถ้านับเฉพาะ 5 วันทำการ พอครบหนึ่งเดือน ก็ 20 ชั่วโมงพอดี คนไข้ก็จะดีขึ้นเร็ว โมเดลนี้จะดีที่สุดเลย หรือถ้าคุณไม่มีเตียง คุณก็ต้องไปให้บริการเขาที่บ้าน”

อีกโมเดลหนึ่งคือ การมีศูนย์กายภาพบำบัดอยู่ใกล้บ้าน เช่น บางอบต. เขาก็เปิดคลินิกกายภาพบำบัดไม่คิดเงินกับคนไข้ แล้วถ้าอยู่ใกล้บ้านก็จะสามารถไปรับบริการได้ค่อนข้างเยอะ เข้าใจว่ามีบางเคสไปรับบริการที่ อบต. ได้ถึง 6–7 ครั้ง แต่ถ้ามาโรงพยาบาลอาจจะมาได้แค่ 2–3 ครั้ง”

“ส่วนโมเดลอื่น เช่น โมเดล OPD (ผู้ป่วยนอก) โรงพยาบาลผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะอย่างที่บอกว่าคนไข้มาโรงพยาบาลได้น้อยครั้งมาก โมเดล อบต. ก็ดี แต่ก็หมายความว่าคุณก็ต้องให้ทุก อบต. สร้างศูนย์กายภาพบำบัดของตัวเอง แล้วอบต. ต้องมีรถรับส่งผู้ป่วยจากบ้านมาที่ศูนย์ด้วยนะ โมเดลนี้ก็พอใช้ได้ แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นค่อนข้างเยอะทีเดียว”

สองโมเดลที่เหมาะกับผู้ป่วยระยะกลาง โมเดลผู้ป่วยในหากเตียงในรพ. เต็มก็ควรให้บริการที่บ้าน ส่วนโมเดลศูนย์กายภาพบำบัดใกล้บ้าน ก็ควรมีรถรับ-ส่ง

บริการที่ควรจะเป็นสวัสดิการจากภาครัฐ

“ผู้ป่วยทุกรายต้องเข้าถึงบริการนี้ไม่ว่าจะยากดีมีจนขนาดไหน ยิ่งจนยิ่งต้องเข้าถึง เพราะคนจนเวลาพิการ สถานการณ์ยิ่งแย่กว่าคนทั่วไป เพราะเขาต้องทำมาหากิน ถ้าเขาพิการคือครอบครัวเขาล่มสลายเลย”

“เราเลยต้องให้น้ำหนักเรื่องนี้ ดังนั้นถ้าไม่แอดมิดให้เพียงพอ 2–4 สัปดาห์ ก็ต้องไปให้บริการที่บ้านให้ครบอย่างน้อย 20 ครั้งในช่วง golden period นี้”

“ผมฝันเอาไว้ว่าประชาชนทุกคนได้รู้ว่านี่คือสิทธิของเขา คนที่เป็น stroke เขาควรจะสามารถเลือกได้ว่าจะนอนโรงพยาบาลหรือรับบริการที่บ้านดี ผมอยากให้คนไทยมีสิทธิเลือกว่ามีโปรแกรมสองรูปแบบนี้”

นอกจากนโยบายของรัฐแล้ว อีกส่วนสำคัญคือการดูแลของคนใกล้ชิดนอกเหนือจาก 20 ชั่วโมงที่ทำกายภาพบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการฝึกยืน ฝึกเดิน และการดูแลอื่นๆ ตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ เพราะแม้ว่า 6 เดือนจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเทียบกับอายุขัยของคนทั่วไป แต่ใครจะรู้ว่าช่วงสั้นๆ นี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนของใครบางคน หรือบางครอบครัวไปตลอดชีวิตก็เป็นได้.

บทสัมภาษณ์โดย : ขนุน ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

ภาพประกอบโดย : ปพน ศิริมัย

--

--