Sustainability Series: แฟชั่นโก้เก๋ มาไวไปไวแต่ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ยาวนาน

RISE IMPACT
3 min readNov 9, 2023

--

สายน้ำฉ่ำเย็น แต่อันตรายล้ำลึก

พลาสติกได้แทรกซึมเข้าสู่ทุกอณูในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหลากหลายประเภท ทั้งใส่อาหาร ใส่ข้าวของเครื่องใช้ ในหมวดหมู่นี้ก็แยกออกได้อีกว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน หรือเป็นจำพวกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (sigle-used plastics) ที่สร้างขยะพลาสติกนำไปสู่มลพิษทางสิ่งแวดล้อมให้กับโลกของเรา

บางคนอาจใช้พลาสติกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะพลาสติกนั้นถูกนำมาแปรเปลี่ยนสภาพเข้ากับวัสดุหรือวัตถุดิบอื่น ๆ อาทิ ผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyethylene terephthalate) ที่ถูกนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ อาทิ เสื้อและกางเกงสำหรับออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา และยังนำไปผลิตเป็นผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาดร่างกาย รถ และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างผ้าไมโครไฟเบอร์ ซึ่ง

เส้นใยโพลีเอสเตอร์ถูกทำขึ้นจากการสังเคราะห์จากเทอร์โมพลาสติก ซึ่งมีลักษณะไวต่อความร้อน และทำให้แปรสภาพได้ถูกความร้อนที่สูงจัดจากเตารีด หรือเครื่องอบผ้า เมื่อเราทำความสะอาดชะล้าง “ผ้าโพลีเอสเตอร์” และ “ผ้าไมโครไฟเบอร์” จึงทำให้มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้น้ำที่ใช้ซักล้างปนเปื้อนไมโครพลาสติก หรือนานวันเข้าผู้ใช้งานจะสังเกตได้ว่าผ้าเหล่านี้อาจยุ่ยเป็นขุยเล็ก ๆ หลุดออกมา หรือเมื่อเส้นใยเสื่อมสภาพก็จะกลายเป็นชิ้นพลาสติกขนาดจิ๋วปะปนไปกับอากาศที่เราสูดอากาศหายใจ และตกลงลงสู่แหล่งน้ำในท้ายที่สุด

Photo by Pixabay: https://www.pexels.com/photo/boat-deck-calm-dawn-dusk-210288/

น้ำมีบทบาทที่สำคัญและจำเป็นต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ ทั้งมนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ทุกชนิด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นมนุษย์และสัตว์ต้องบริโภคน้ำที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกทั้งทางตรง โดยเฉพาะคนเราที่ต้องอาศัยน้ำในเกือบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างการดื่มดับกระหาย นำมาปรุงทำอาหารในแต่ละมื้อ นำมาชะล้างร่างกายและเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่

และในทางอ้อมอย่างพืชพันธุ์ที่ต้องอาศัยน้ำในการเจริญเติบโต การล้างอาจไม่สามารถทำความสะอาดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในพืชผักได้ร้อยเปอร์เซนต์ เพราะไมโครพลาสติกนั้นมีขนาดที่เล็กมาก ๆ นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ก่อนหน้านี้ทาง Vrije Universiteit Amsterdam จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ค้นพบไมโครพลาสติกในเลือดกว่า 80% จากกลุ่มทดลองตัวอย่างที่ไม่ใช่คน นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบอนุภาคโพลีเมอร์ซึ่งถือเป็นไมโครพลาสติกในเลือดของมนุษย์โดยตรงจากเลือดของผู้บริจาคกว่า 17 รายจากทั้งหมด 22 ราย ซึ่งถือเป็นกว่า 77.27% แม้จำยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าไมโครพลาสติกสร้างผลกระทบอย่างไรให้กับร่างกายคนเราได้บ้าง แต่นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับมนุษย์ สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างแน่นอน

การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้บริโภครายย่อยเท่านั้น อีกสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมานานและยากที่จะแก้ไข คือการใช้น้ำปริมาณมหาศาลในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ไม่เพียงใช้ทรัพยากรน้ำเยอะแต่ยังสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางน้ำอย่างต่อเนื่อง

น้ำสะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป กับอุตสาหกรรมแฟชั่นเพื่อสวมใส่ให้โก้เก๋

อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นมีการใช้น้ำจำนวนมหาศาลตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มต้นตั้งแต่การผลิตฝ้าย 1 กิโลกรัม หรือเสื้อ 1 ตัว และกางเกงอีก 1 ตัว ใช้น้ำเฉลี่ย 1,931 ลิตรซึ่งมากกว่าที่คนไทยใช้ในกิจวัตรประจำวันประมาณ 250 ลิตร/คน/วัน อ้างอิงข้อมูลจากการประปานครหลวง และสำนักวิศวกรรมผังเมืองกรมโยธาธิการและผังเมือง

และน้ำที่สะอาดจะหายไปในที่สุดจากขั้นตอนการฟอกและย้อมสีผ้า เพราะการใช้สารเคมีหลากหลายชนิด หากน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไม่ได้ถูกบำบัดอย่างถูกต้องก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือหน้าผืนดิน สารเคมีเหล่านั้นจะแทรกซึมสร้างมลพิษและวกกลับมาทำลายสุขภาพมนุษย์และสัตว์เล็กใหญ่ในที่สุด

“อุตสาหกรรมฟอกย้อมสิ่งทอจึงถูกเรียกว่า ‘อุตสาหกรรมสีชาด’ อาทิในประเทศบังคลาเทศที่แม่น้ำแห้งเหือดและเต็มไปด้วยน้ำเสียสีแดงจากอุตสาหกรรมนี้”

แหล่งน้ำเสียกว่า 20% จากทั่วโลกเกิดจากน้ำเสียที่ถูกปล่อยทิ้งจากอุตสาหกรรมแฟชั่น และเมื่อซักผ้าเส้นใยไมโครพลาสติกจากผ้าไมโครไฟเบอร์ได้ไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารเมื่อสัตว์ทะเลได้บริโภคเข้าไป นอกจากผลกระทบต่อน้ำแล้วอุตสาหกรรมสิ่งทอยังเป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากก๊าซคาร์บอนกว่า 10% ที่ถูกปล่อย ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและนำมาสู่โลกเดือดในปัจจุบัน

แฟชั่นที่มาไวไปไวแต่ทิ้งซากความเสียหายไว้ยาวนาน

ฟาสต์แฟชั่นสร้างขยะสิ่งทอจำนวนมหาศาล และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการผลิตผ้าฝ้ายจนถึงการฟอกสีหรือย้อมมีน้ำสะอาดจำนวนมหาศาลที่ถูกสังเวยไปกับกระบวนการเหล่านี้ โดยท้ายที่สุดแล้วผลผลิตจากการสังเวยนั้นเป็นได้แค่ขยะที่สร้างมลพิษมือที่ 2, 3 หรือ 4 ให้กับสิ่งแวดล้อมบนโลกในที่สุด

อุตสาหกรรมบันเทิงและโลกออนไลน์มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเป็นอย่างมาก เพราะการที่ดาราหรือคนดังมีหน้ามีตาบนโลกสังคมออนไลน์ ถ่ายทอดชีวิตประจำวันในชุดเสื้อผ้าที่ไม่ซ้ำกันให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ เป็นการเร่งให้เกิดอุปทานหมู่ในการจับจ่ายใช้สอยเสื้อผ้าแฟชั่นประเภทมาไวไปไวมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ตกขบวนกระแสนิยมในสังคม

จริงอยู่ที่ว่าดารา หรือเซเลบริตี้คนดังในสังคมบางคนสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมจำพวก luxury brand ที่มีการผลิตในจำนวนไม่มากและไม่นับเป็นฟาสต์แฟชั่น แต่ผลกระทบที่ตามมาคือการที่แบรนด์เล็กแบรนด์น้อยเห็นและผลิตตามในจำนวนเยอะ ๆ ในราคาที่เข้าถึงได้ตัวละไม่กี่ร้อยจนถึงหลักพัน และบางครั้งแบรนด์ประเภทฟาสต์แฟชั่นก็จ้างดารา ศิลปิน คนดังเพื่อโฆษณาเป็นจริงเป็นจังลงโทรทัศน์ หรือจ้างเพื่อให้สวมใส่ถ่ายรูปลงแพลตฟอร์มออนไลน์ส่วนตัวโดยเฉพาะเพื่อโปรโมทกระตุ้นยอดขาย ตัวคนดังเองก็ได้ชื่อเสียงและเงินจากการโฆษณา ตัวแบรนด์เองก็ได้ชื่อเสียงและกำไรจากยอดขาย เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างคนต่างได้ผลประโยชน์ แต่สิ่งแวดล้อมกลับตกเป็นเบี้ยล่าง รับผลกระทบจากสองอุตสาหกรรมนี้

แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นใหญ่ ๆ มักผลิตสินค้าเสื้อผ้ามาในจำนวนมากเกินความจำเป็น หรือ over-production เนื่องด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการผลิตทีละน้อย ๆ สามารถจ้างแรงงานในกระบวนการผลิต ตัดเย็บได้ถูก ทำให้ต้องระบายสินค้าเสื้อผ้าจำนวนมากออกด้วยการส่งเสริมกระตุ้นยอดขายตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งทางหน้าร้าน และทางออนไลน์ ลดบ้าง แถมบ้างสลับกันไป ในประเทศไทยเองก็มีเทศกาลลดราคาสินค้าประเภทนี้อยู่บ่อย ๆ ตามหน้าร้านมักลดตามฤดูกาล ต้นปี กลางปี และท้ายปี

Photo by cottonbro studio: https://www.pexels.com/photo/person-holding-black-iphone-4-5076525/

ส่วนออนไลน์นั้นมีความถี่สูงกว่าเพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น แบรนด์เล็กกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นจัดจำหน่ายเสื้อผ้าในราคาจับจ่ายได้ง่าย ๆ แต่เสื้อผ้าส่วนใหญ่คือฟาสต์แฟชั่นที่ถูกนำเข้าจากประเทศจีนในปริมาณมาก การนำมาเทกระจาดลดราคาทีละ 10–100 บาท ผนวกกับแพลตฟอร์ม e-commerce ที่ให้บริการตลาดออนไลน์จัดส่วนรหัสส่วนลดรายเดือนหรือครึ่งเดือนครั้ง ในรูปแบบที่ร้านได้กระตุ้นยอดขายโดยไม่เสียกำไร คนซื้อได้ลดราคาค่าสินค้าและค่าจัดส่งแบบสบายกระเป๋าตังค์

ดังนั้นเมื่อสินค้าประเภทนี้ถูกนำมาลดในตลาดออนไลน์ 12–24 ครั้งต่อปี ซึ่งในแต่ละครั้งผู้คนมักซื้อมากกว่า 1–2 ชิ้นต่อครั้งเพื่อให้คุ้มกับค่าส่งสินค้า ผู้ซื้อหนึ่งคนอาจอุปโภคฟาสต์แฟชั่นสูงถึง 5–10 ชิ้นต่อเดือน เพื่อใส่ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียส่วนตัวเพียงครั้งเดียว ซึ่งนี่ถือว่าเป็น over-consumption เป็นการอุปโภคมากเกินความจำเป็น และพฤติกรรมนี้จะไม่หมดไปง่าย ๆ ตราบใดที่อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น อุตสาหกรรมบันเทิง และแพลตฟอร์มร้านค้าอออนไลน์ยังคงมุ่งหน้าหาผลประโยชน์โดยมุ่งกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด

ทางหลอก-ทางรอด: ทางไหนดี?

‘เสื้อผ้าที่ไม่ใช่ เรานำมาแปรรูปผลิตใหม่’ หลายแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นมักใช้กุลศโลบายนี้เพื่อ green-washing ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าแบรนด์นี้ ‘รักษ์โลก’ เราเชื่อถือได้มากแค่ไหนว่าประโยคนี้เป็นความจริง เพราะหากอ้างอิงข้อมูลจากคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ้ายระหว่างประเทศ (ICAC) เสื้อผ้าที่ถูกนำมาแปรรูปทั่วโลกคิดเป็นร้อยละ 1 เท่านั้นจากจำนวนทั้งหมดที่ถูกผลิตออกมา

ที่สำคัญแบรนด์เหล่านี้ยังคงเดินหน้าผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นประเภทมาไวไปไวในจำนวนมาก ชนิดที่ว่าไม่สนใจกระแสสังคมสิ่งแวดล้อม ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือผ้าที่ใช้ยังไร้คุณภาพ บาง ขาดง่าย ไปไม่คงทน จะส่งต่อหรือขายต่อก็ทำได้ยาก เพราะฟาสต์แฟชั่นคือสิ่งที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ไม่ใช่ของหายากในตลาดเฉพาะกลุ่มที่จะมีการซื้อขายทอดตลาดมือ 2 หรือ 3

Green-washing จึงเป็นทางหลอก ที่นิยมนำมาทำการตลาดสวยหรูเพื่อให้คนอุดหนุนสินค้าต่อ คนซื้อก็สบายใจในระดับผิวเผินว่าไม่ได้สร้างขยะมลพิษให้สิ่งแวดล้อม แต่ถ้าซื้อเกินความจำเป็นเพราะ ‘ของมันต้องมี’ จากการตลาด ใส่ตัวละไม่กี่ครั้ง แขวนทิ้งไว้หรือทิ้งไปก็ยังส่งผลเสียวนไปในท้ายที่สุด เพราะคนที่อุดหนุนคือหนึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นหมุนไปได้ในทุก ๆ วัน

ทางรอด?
เรามักเห็นข่าวของขบวนการประท้วงอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ที่งานสัปดาห์แฟชั่นในต่างประเทศอยู่บ้างประปราย ขบวนการประท้วงเหล่านี้มีจุดยืนคือต้องการประท้วงโดยช่วงชิงพื้นที่สื่อให้คนหันมาตระหนักและสนใจผลเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศอย่างก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางน้ำจากสารเคมี การก่อให้เกิดขยะสิ่งทอในจำนวนมาก ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม จนถึงประท้วงการใช้ขนสัตว์จริงมาผลิตเป็นสิ่งทอ ที่ในปัจจุบันมีการใช้ลดน้อยลงไปมาก

ในฝั่งภาครัฐเองก็มีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตรวจสอบ ควบคุมมลพิษ และอำนวยให้เกิดการจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งควบคุมกำหนดปริมาณผลผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพื่อลด-หยุดการผลิตที่มากเกินจำเป็น เพื่อที่ผู้บริโภคเองก็จะได้สวมใส่เสื้อผ้าที่เกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในขณะเดียวกันธุรกิจภาคเอกชนก็ตอบรับกระแสสังคมในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจร้านให้เช่าเสื้อผ้า ถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าไปเรื่อย ๆ หรือบาทคนที่ต้องการสวมใส่เพื่อออกงานสังคมเพียงครั้งเดียว แต่ในอดีตนั้นมีข้อจำกัดตรงที่ร้านให้เช่าเสื้อผ้าเหล่านี้มักเป็นเสื้อผ้าเฉพาะโอกาสเสียส่วนใหญ่

Photo from Mud Jeans: https://mudjeans.eu/

Mud Jeans (https://mudjeans.eu/) ร้านจัดจำหน่ายกางเกงยีนส์ในรูปแบบรายชิ้นและเช่าสำหรับสมาชิกรายเดือนสัญชาติดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) ที่มีกางเกงยีนส์ให้เลือกหลากหลายรูปแบบทั้งสำหรับผู้หญิงและชาย โดยลูกค้าผู้ที่สมัครสมาชิกรายเดือนของทางร้านสามารถเช่ากางเกงยีนส์ได้ไม่จำกัดชิ้นในหนึ่งเดือน เพียงแต่ต้องคืนกางเกงยันส์ตัวแรกก่อนเช่าตัวใหม่ เพราะการฟอกสียีนส์นั้นต้องใช้น้ำปริมาณมากอย่างที่เราได้เล่าไป การเช่าจึงลดปริมาณการผลิตและฟอกสีที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณขยะสิ่งทอที่จะถูกเผาทิ้งและกลบฝังในพื้นดินได้

Photo by Rag2Riches: https://r2r.ph/products/bento-beige-1-0

Rags2Riches ( ธุรกิจเพื่อสังคมสัญชาติฟิลิปปินส์ที่มองเห็นโอกาสการนำขยะสิ่งทอมา upcycling แปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ กระเป๋า ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับหลากหลายประเภท นอกจากจะแก้ไขปัญหาลดขยะจากสิ่งทอแล้ว ยังสนับสนุนผู้หญิงในชุมชนที่มีรายได้น้อยให้มีทักษะ มีอาชีพ สามารถพึ่งพาตัวเองได้

นี่คือสองตัวอย่างธุรกิจเพื่อสังคมที่มองเห็นความเป็นไปได้ มอบทางรอดให้กับสภาพแวดล้อม มนุษย์ สัตว์และสิ่งมีชีวิตบทโลกใบนี้ หากธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้ารายเดือนที่ยังคงเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มได้กลายมาเป็นร้านในกระแสหลักอาจช่วยสร้างผลลัพธ์บวกให้กับสิ่งแวดล้อมของเราได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการตระหนักรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคทุนธุรกิจเอกชน และภาครัฐที่เอาจริงเอาจังในการควบคุมอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อให้ทุกภาคส่วนค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้โลกเรายังมีแหล่งน้ำ อากาศ และผืนดินที่สะอาดต่อการใช้ชีวิตต่อไป

เขียนและเรียบเรียงโดย: พรพิชชา ตันตระวาณิชย์

Reference

  1. The Guardian (2022). Microplastics found in human blood for first time. Retrieved from https://www.theguardian.com/environment/2022/mar/24/microplastics-found-in-human-blood-for-first-time
  2. Refugee Action UK (2019) Bangladesh’s Polluted Waters: River Dying Due to Dyeing. Retrieved from refugee-action.org.uk
  3. UN Environment Program (2019) Fashion’s tiny hidden secret. Retrieved from https://www.unep.org/news-and-stories/story/fashions-tiny-hidden-secret

--

--