Scaling up! บทเรียนสำคัญจากสต็อกโฮล์ม สู่การแก้ปัญหาในอีกหลายเมือง

RISE IMPACT
2 min readFeb 7, 2024

--

ในปี 2023 ที่ผ่านมา เราได้นำเสนอกรณีศึกษามากมาย ทั้งด้านนวัตกรรมสาธารณะ นโยบาย และผู้ประกอบการเพื่อสังคม กรณีศึกษาเหล่านั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เราได้เห็นผลลัพธ์ของกระบวนการ นโยบาย และการริเริ่มสร้างสรรค์ที่อาจประสบผลสำเร็จไปบ้างแล้ว จะทำอย่างไรเมื่อนำกรณีศึกษาเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์งอกงามหรือตอบสนองความต้องการอย่างหวัง?

Bloomberg Cities Network เองก็ได้บทเรียนจากการที่ 1+6 เมือง ในยุโรปและอเมริกา โดยที่ 1 คือโดย 1 คือ Helsingborg จากประเทศสวีเดน ได้นำแนวคิดนวัตกรรม Biorchar มาใช้และพัฒนาจากไอเดียต้นของเมืองสต็อกโฮล์มไปอีกระดับ และ อีก 6 เมืองได้แก่

  • Darmstadt, Germany
  • Sandnes, Norway
  • Helsinki, Finland
  • Cincinnati, US
  • Lincoln, Nebraska — US
  • Minneapolis, US

นวัตกรรม Biochar จากสตอกโฮล์มคืออะไร?

Biochar นวัตกรรมที่นำขยะจากพืช หรือเศษเหลือจากการเกษตร มาแปรเปลี่ยนเป็นถ่านชีวภาพ เมืองสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงประเทศสวีเดน เจ้าของรางวัล Bloomberg Philanthropies Mayors Challenge ประจำปี 2014 ริเริ่มทำโครงการ Biochar ภายในเมือง

สิ่งที่ทำให้โครงการนี้โดดเด่นจนได้รางวัลคือมันสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้หลากหลายมิติ เมื่อนำถ่านชีวภาพมาผสมกับดินจะช่วยให้สามารถอุ้มและกักเก็บน้ำจากพายุฝนฟ้าคะนองป้องกันน้ำท่วม พร้อม ๆ กับเป็นปุ๋ยชีวภาพบำรุงดินช่วยให้ต้นไม้เติบโตแข็งแรง เมืองสต็อกโฮล์มทำ Biochar โดยมุ่งเน้นไปที่การดูดซับคาร์บอนเพื่อป้องกันการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งมั่นที่จะคำมั่นทำตามสัญญาผลักดันเมืองให้ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2040 (พ.ศ.2583) และสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2045 (พ.ศ.2588)

โดยหลักขยะจากพืชเหล่านี้ได้มาจากเศษใบไม้ที่ร่วงหล่นในสวนสาธารณะและสวนพฤษาศาสตร์ภายในเมือง ผ่านการจัดเก็บและแปรรูปจนเกิดเป็น Biochar ไบโอชาร์(โคล) หรือถ่านชีวภาพ ก่อนจะจัดจำหน่ายให้ชาวสวนที่ต้องการลองใช้ ซึ่งภายใน 3 ปีแรก ช่วง 2014–2017 ผลตอบรับค่อนข้างดี จากชาวสวนที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และพวกเขาเองก็พึงพอใจกับผลลัพธ์ของพืชผลที่งอกงาม และทางเมืองเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของเทศบาลสต็อกโฮล์มถึง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ ภายในเวลา 8 ปี

9 ปีให้หลังนับจากปี 2014 นวัตกรรมนี้ยังคงถูกนำมาปรับใช้กระจายไปทั่วยุโรปและอเมริกา เกิดเครือข่ายอุตสาหกรรม European Biochar Industry และ Nordic Biochar Network และยังมีงาน Biochar Summit ประจำปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกจัดขึ้นที่เฮลซิงบอร์กประเทศสวีเดน เพื่อส่งต่อ ถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการใช้ Biochar เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเมือง

แม้สต็อกโฮล์มจะเป็นผู้ริเริ่ม แต่เฮลซิงบอร์กลับเป็น Game changer จนกลายมาเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Biochar Summit ในที่สุด

‘ฝุ่นพิษ’ จากการเผาไหม้เศษพืชผลทางการเกษตรนั้นสร้างปัญหาและผลกระทบที่รุนแรงกับสุขภาพของผู้คนมากขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะฝุ่นจากภาคเกษตรอุตสาหกรรมใหญ่อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือการเผาไร่อ้อยเนื่องจากปัญหาการขาดตุ้นทนด้านเครื่องมือและแรงงานตัดอ้อยสด แบบแยกลำ ใบและยอดอ้อย ซึ่งล้วนเกิดจากสาเหตุที่ซับซ้อน ต้องอาศัยการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

แม้สวีเดนไม่ได้เผชิญปัญหา PM 2.5 อย่างประเทศไทย แต่เทศบาลเมืองเฮลซิงบอร์กเห็นประโยชน์และกล้าที่จะเผชิญความท้าทาย รับนวัตกรรมถ่านชีวภาพมาและผันตัวเองสู่การเป็นผู้สนับสนุนหลักให้เกิดการถ่ายถอดและปฏิบัติใช้จริงทั้งในระดับเมือง ประเทศ และภูมิภาค

เดิมที เฮลซิงบอร์ก ต้องการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศด้วยการนำ Biochar มาใช้ในการปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะของเมือง เพราะมันทั้งทำหน้าที่แทนปุ๋ย เป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่ดีต่อการเติบโตของพืช ลดความเป็นกรดในดิน มากกว่านี้คือมันสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์กักเก็บได้ยาวนาน เ

ทศบาลเมืองเล็งเห็นโอกาสจากนวัตกรรมนี้ จึงสร้างศูนย์กลางการวิจัย นวัตกรรม การทดลอง และสร้างโรงงานถ่านไบโอชาร์ซึ่งจะให้ผลผลิตไบโอชาร์ได้มากกว่าที่สตอกโฮล์มถึงห้าเท่า เศษขยะอินทรีย์จากใบและต้นไม้จากสวนสาธารณะกว่า 7 พันตัน จะถูกแปรด้วยกระบวนการไพโรไรซิสเป็นถ่านชีวภาพได้ถึง 1,500 ตันต่อปี

เฮลซิงบอร์กไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตถ่านชีวภาพรายใหญ่ แต่ยังผันตัวมาสู่ ‘ผู้นำและส่งต่อนวัตกรรม’ ตามที่เทศบาลเมืองได้เน้นย้ำถึงการส่งต่อและสื่อสารถึงกันจากเมืองหนึ่งถึงอีกเมือง จึงเกิด ‘Biochar Summit’ ในปี 2023 ที่ผ่านมาและใช้งานประชุมสุดยอดประจำปีเป็นพื้นที่ส่งเสริมการพัฒนาแบ่งปันความรู้ แนวทางปฏิบัติสำหรับการผลิตและการใช้ถ่านชีวภาพ และลดช่องว่าง ให้เมืองอื่น ๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้สารตกค้างชีวมวลที่อาจเกิดขึ้น หากภาครัฐสามารถพัฒนานวัตกรรมตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแข่งขันกับภาคธุรกิจ ประชาชนจะสามารถเข้าถึงถ่านชีวภาพได้ง่ายขึ้น

นี่ก็เป็นอีกบทเรียนที่จุดประกายให้กับทาง Bloomberg Cities Network ว่านวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการส่งต่อเหมือนกับนกที่คาบเมล็ดพันธุ์ไปสู่อีกที่หนึ่งเพื่อให้ตกลงสู่พื้นดิน และเกิดการเจริญเติบโตงอกงามเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด

นวัตกรรม ‘ถ่านชีวภาพ’ ในประเทศไทยเองก็ได้ผ่านงานวิจัย เผยแพร่และส่งเสริมให้ประชาชนนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์การมหาชน โดยเกษตรกรรายย่อยได้มีความพยายามนำนวัตกรรมถ่านชีวภาพมาปรับใช้ เพื่อช่วยลดปัญหาการเผาขยะอินทรีย์สร้างฝุ่นพิษ PM 2.5 แต่ด้วยบริบทการทำเกษตรกรรมระดับเล็กจึงเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการและกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ

ในขณะเดียวกันอาจจะเป็นการดีกว่านี้หากแนวคิดนวัตกรรมนี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมการเกษตรระดับใหญ่ โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนผ่านนโยบายที่แข็งขันทั้งในระดับเมือง จังหวัด จนถึงภูมิภาคทั้งสำหรับเกษตรกรรายย่อยและอุตสาหกรรมการเกษตรภาคใหญ่ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันลดปัญหามลพิษเพื่อคืนสุขภาพที่ดีสู่ประชาชน และยังช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรไทย

บทเรียนที่ 1: ไอเดียดี ๆ เริ่มต้นจากทรัพยกรทางบุคคล

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำเทศบาลเมือง ผู้อยู่อาศัย หรือเจ้าของธุรกิจภาคเอกชน ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการสร้างสรรค์แนวคิดดี ๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนวัตกรรมใหม่แกะกล่อง เพราะสต็อกโฮล์มเองก็มีการใช้ถ่านชีวภาพที่ได้จากการแปรรูปมาก่อนหน้าที่จะเกิดโครงการนี้แล้ว Björn Embrén เจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้ประจำเมือง ได้เล็งเห็นว่า ‘ไบโอชาร์’ ที่พวกเขาใช้ดูแลต้นไม้สาธารณะนั้นมีประสิทธิภาพและถือเป็น ‘ความพิเศษ’ เฉพาะเมือง ต่อมาจึงได้นำเสนอต่อกับผู้นำเมืองเกิดเป็นโครงการ Biochar ขึ้นมา

จะเห็นได้ว่าทางสต็อกโฮล์มไม่ได้ตั้งต้นจากการมุ่งสร้างนวัตกรรม แต่เกิดจากไอเดียที่มองเห็นความไม่ธรรมดาของเจ้าหน้าที่ในเมือง ในขณะเดียวกันเฮลซิงบอร์กก็เริ่มจากเจ้าหน้าที่ภูมิสถาปนิกเห็นว่าต้นไม้ในเมืองเติบใหญ่ให้ร่มเงาตามท้องถนนซึ่งเป็นผลจากการปลูกด้วยถ่านชีวภาพ Biochar เฮลซิงบอร์กจึงแทบไม่ต้องเสียเวลาไปกับเริ่มต้นใหม่เพื่อพิสูจน์ว่ามันได้ผลดีเพียงใด เมืองเฮลซิงบอร์กข้ามขั้นสู่การพัฒนาวิจัยการใช้ถ่านชีวภาพเพื่อรักษาคุณภาพของดินที่ปนเปื้อน ด้วยทักษะด้านนวัตกรรมที่เมืองมีประกอบกับประสบการณ์

อีกวิธีหนึ่งในการค้นหาแนวคิดคือการมองหาเมืองที่เป็นแบบอย่างสำหรับแนวคิดต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้แรงบันดาลใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานในการทำความเข้าใจว่าสิ่งใดอาจใช้ได้ผล สิ่งใดที่อาจต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม และสิ่งที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความสำเร็จในบริบทใหม่

.

บทเรียนที่ 2: การนำแนวคิดมาปรับใช้ ไม่ใช่เพียงแค่การคัดลอก-วาง

เนื่องจากทุก ๆ เมืองมีบริบททางสภาพแวดล้อมและสังคมที่เหมือนและแตกต่างกันไป แน่นอนว่าย่อมเกิดการปรับใช้กระบวนการนวัตกรรมตามเหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้องรักษาสมดุลระหว่างการนำไอเดียมาทำซ้ำในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความถูกต้องของแนวคิดหลักเพื่อให้คงไว้ซึ่งผลกระทบบวก

เห็นได้ชัดว่าสต็อกโฮล์มและเฮลซิงบอร์กมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งบริบทของเมืองและสังคม ทั้งสองเมืองนี้ยังเก็บเศษใบไม้และขยะจากพืชจากสวนสาธารณะและสวนพฤษาศาสตร์เหมือนกัน แต่ที่ต่างคือเฮลซิงบอร์กต่อยอดสู่ภารกิจใหม่เป็นการทดลองใช้ถ่านไบโอชาร์แบบใหม่ หนึ่งในสามของถ่านไบโอชาร์ที่ผลิตในเฮลซิงบอร์กจะนำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเน้นไปที่การใช้ถ่านชีวภาพเพื่อผลิตคอนกรีตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางภูมิอากาศ และอีกโปรเจ็คคือการแทนที่ถ่านหินด้วยถ่านไบโอชาร์ในการผลิตเหล็ก

.

บทเรียนที่ 3: เมืองและผู้คนคือผู้ถ่ายทอด ขับเคลื่อน และสร้างสรรค์ไปพร้อม ๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็นเมืองต้นแนวคิด หรือเมืองที่รับแนวคิดไปใช้ล้วนเป็นผู้ถ่ายทอดและขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่สำคัญเมืองที่มีความสามารถทางด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม ริเริ่มการวิจัยเพื่อพัฒนาต่ออย่างเฮลซิงบอร์กได้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการวิจัยไบโอชาร์ ขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจจากผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจผลิตภัณฑ์ใหม่จากงานวิจัย และเกิดเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจแบบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมไบโอชาร์

และอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เฮลซิงบอร์กใช้คือการเชื่อมโยงเทศบาล นักวิชาการ และภาคเอกชนเข้ากับเครือข่ายอุตสาหกรรมและชุมชนการเรียนรู้ เปลี่ยนโรงงานเก่าให้เป็นศูนย์ความรู้ถ่านชีวภาพไบโอชาร์ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้

สุดท้ายแล้วไม่ว่าเมืองไหนจะนำแนวคิดมาทำซ้ำ มาปรับ หรือต่อยอดงานวิจัยใหม่ล้วนเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเมืองอื่น ๆ ต่อไปไม่สิ้นสุด นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะยั่งยืนต่อไปได้เมื่อมีการถูกส่งต่อ ทำซ้ำ และพัฒนา

เขียนและเรียบเรียงโดย: พรพิชชา ตันตระวาณิชย์

Reference

  1. Bloomberg Philanthropies (2017) BRINGING BIOCHAR TO YOUR CITY LESSONS FROM THE STOCKHOLM BIOCHAR PROJECT. Retrieved from https://www.bbhub.io/dotorg/sites/2/2017/03/Replicating-in-Stockholm.pdf
  2. Bloomberg Cities Network (2023) Big lessons from a small city on borrowing — and building upon an idea. Retrieved from https://bloombergcities.jhu.edu/news/big-lessons-small-city-borrowing-and-building-upon-idea
  3. Siani (2023) The Biochar Summit showed biochar’s potential being unlocked — but what about the global south? Retrieved from https://www.siani.se/news-story/the-biochar-summit-showed-biochars-potential-being-unlocked-but-what-about-the-global-south/
  4. H22 Helsingborg Sweden Biochar (2023) What exactly is it and how can it make a difference? Retrieved from https://h22.se/en/projects/biochar/

--

--