Case study: รัฐวิคทอเรีย กับแผนปรับปรุงกลยุทธ์โครงสร้างพื้นฐาน 30 ปี 2021–2051 ที่จะพัฒนาชุมชนเมืองและความเป็นอยู่ของ ‘ทุกคน’ ให้ดีขึ้น [Part 1]

RISE IMPACT
Oct 10, 2023

--

ประเทศออสเตรเลีย จุดหมายปลายทางที่คนไทยสนใจเดินทางไป Work and Holiday ทำงานประจำ ศึกษาต่อหรือแม้กระทั่งใช้ช่วงบั้นปลายชีวิต รู้หรือไม่ว่าภาพรวมของบ้านเมืองที่น่าอยู่และมีผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เกิดขึ้นได้จากหลัก Density Done Well วางแผนและออกแบบเพื่อสร้างเมืองที่ดีพร้อมสำหรับการขยายตัวของจำนวนประชากรในรุ่นต่อไป

รัฐวิคทอเรียมีประชากรมากเป็นอันดับสองในออสเตรเลีย นับเพียงประชากรในเมลเบิร์นเมืองหลวงของรัฐคิดเป็นกว่า 19.05% ของประชากรทั้งหมดในปัจจุบัน และคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของออสเตรเลียในอนาคต จากอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปีแซงหน้าเมืองซิดนีย์ไปแล้ว

Infrastructure Victoria หน่วยงานให้คำปรึกษารัฐบาลได้ริเริ่มการทำยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานขึ้นในปี 2016 โดยตั้งเป้าปรับปรุงแผนโครงสร้างพื้นฐานทุก 3–5 ปี การทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านกระบวนการ ‘การมีส่วนร่วมของพลเมืองในชุมชน’ ข้อมูลที่ได้รับการเสนอแนะจึงสำคัญและทำให้รัฐบาลมั่นใจได้ว่ายุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน 30 ปี จะตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงใหม่ และความท้าทายหรืออุปสรรคที่เข้ามา ยกตัวอย่างเช่น ภัยพิบัติไฟป่าในช่วงฤดูร้อน หรือโรคระบาดโควิด-19 ที่แพร่กระจายทั่วโลกจนเกิดวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่

ชวนหันกลับมามองที่ประเทศไทย ผู้กำหนดนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน?

เรามีสิทธิมีเสียงแค่ไหนในวงจรออกแบบนโยบาย? ปัญหาจากโครงสร้างพื้นฐานที่คนกรุงเผชิญถูกรับฟังและได้รับการแก้ไขที่ยั่งยืนหรือไม่ ข้อเสนอแนะหรือความเห็นของทุกคนมีบทบาทสำคัญที่จะกำหนดสภาพความเป็นอยู่ในอนาคตร่วมกับภาครัฐ เพราะหากคุณอยู่ในวัยเรียนคุณจะได้รับผลของนโยบายเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน หากคุณเป็นวัยรุ่นตอนปลายและวัยทำงานคุณจะได้รับผลของนโยบายเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย

โดยอาจเริ่มจากลองถามคำถามเหล่านี้กับตนเองดู เพื่อตัดสินใจว่าคุณอยากมีชีวิตแบบไหนในวันข้างหน้า
1. จะทำอย่างไรถ้าคุณเป็นบุคคลโชคร้ายที่ต้องเดินฝ่าน้ำท่วมและถูกไฟช็อต และชุมชนเมืองที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัยมากแค่ไหน?
2. ทำไมจึงไม่มีพื้นที่สาธารณะที่หลากหลายและเข้าถึงได้สะดวกมากกว่านี้?
3. จะดีกว่าไหมถ้าน้ำประปาประเทศไทยดื่มได้?
4. รัฐจะดูแลเราอย่างไร ตอนเราอายุ 70 ปี?
5. หากเจ็บป่วยขึ้นมา ใครจะพาไปส่งโรงพยาบาล?
.
ไรซ์อิมแพ็ค ไม่เพียงสนับสนุนงานผู้ประกอบการเพื่อสังคม แต่เรายังมีส่วนร่วมกับนโยบาย ทั้งเป็นผู้สร้างกระบวนการ เป็นผู้เข้าไปมีส่วนร่วม และชวนคนเข้ามาส่งเสียง สร้างสังคมที่ตื่นรู้ (active) ไปด้วยกัน

ในฐานะผู้สร้างกระบวนการ เราได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนานโยบายในฐานะเอกชนในปีที่แล้ว เป็นตัวกลางการเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ พูดคุยร่วมกัน และดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกันกว่า 400 คน ผ่านการจัดวงหารือทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์กว่า 30 ครั้ง เพราะเราเชื่อว่านโยบายที่ดีต้องร่วมกันออกแบบ

ครั้งหน้าเราจะพาทุกคนไปรู้จักกระบวนการที่ทางหน่วยงาน Infrastructure Victoria ใช้เพื่อรวบรวมความเห็นจากพลเมืองที่เข้าร่วม

Part2: ขั้นกระบวนการที่อาศัยการมีส่วนร่วม

Part3: บทสรุปจากกระบวนการปรึกษาหารือ

เขียนและเรียบเรียงโดย: พรพิชชา ตันตระวาณิชย์

ภาพประกอบโดย: ปพน ศิริมัย

Reference
1. Infrastructure Victoria (2023) Victoria’s 30-year infrastructure strategy update. Retrieved from https://www.infrastructurevictoria.com.au/project/30-year-strategy/?

2. Participedia (2022) Case: Infrastructure Victoria 30-Year Strategy 2021–2051. Retrieved from https://participedia.net/case/8434

--

--