เมื่อโลกมาถึงจุดที่ย้อนกลับไม่ได้ วิถีเดิม ๆ จะช่วยเราได้เพียงใด แล้วเราควรหันหน้าไปทางไหนต่อเพื่อมีชีวิตที่ยั่งยืนกว่านี้?

RISE IMPACT
2 min readOct 24, 2023

--

วันนี้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่กำลังเดือด (Global Boiling) จากการยืนยันและประกาศอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติ หากเราสังเกตช่วงปี พ.ศ. 2565–2566 ที่ผ่านมาจะพบว่าสภาพอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่รับศึกหนักจากอากาศที่ร้อนขึ้นจนส่งผลถึงสุขภาพร่างกาย ฝนที่ตกหนักทั้งในและนอกฤดูกาลจากพายุหลายลูก จนเกิดภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากตามพื้นที่ต่างจังหวัด และน้ำท่วมขังในชุมชนเมือง และ ‘ความมั่นคงทางน้ำและอาหารที่สะอาด’ ภัยร้ายที่ค่อย ๆ คลืบคลานเราอย่างไม่รู้ตัว

นี่คือสิ่งที่ยืนยันได้ว่ามนุษย์เรายังเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขในเรื่องนี้ไม่มากพอ แนวคิด ‘การเริ่มต้นที่ตัวเอง’ เช่น การรณรงค์ให้ลดใช้ถุงหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติก หันมาใช้ถุงผ้า ใช้แก้วน้ำส่วนตัวเมื่อใช้บริการร้านกาแฟ ปั่นจักรยานหรือใช้ขนส่งสาธารณะในการเดินทาง ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากพฤติกรรมเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ ยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาอันยิ่งใหญ่ของโลกใบนี้ที่กำลังมีปัญหามากขึ้น รุนแรงขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้นทุกวัน

การสร้างความความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นได้จริง ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและความรับผิดชอบในเรื่องนี้ เอาจริงเอาจังกับตัวการที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ตัวการร้ายสำคัญของภาวะโลกเดือดได้

ตัวการร้ายที่นำไปสู่ภาวะโลกเดือด

อ้างอิงสถิติย้อนหลังในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมาจาก Our World in Data และ Statista จะพบว่าแหล่งที่มาสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก คืออุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าและความร้อน (electricity and heat) ปล่อยก๊าซทั้งสองชนิดสูงถึง 15 พันล้านตันต่อปี ซึ่งค่อย ๆ ไต่ระดับจาก 12 พันล้านตันมาเรื่อย ๆ ต่อยาวนานต่อเนื่องนับ 20 ปี ตามมาด้วยการปล่อยจากการขนส่งและลำเลียง (transport) กว่า 8 พันล้านตัน

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากภาคส่วนต่าง ๆ จาก Our World in Data: https://ourworldindata.org/emissions-by-sector
ปริมาณรวมการปล่อนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับสากล นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970–2022 โดยแบ่งตามภาคส่วน จาก Statista: https://www.statista.com/statistics/276480/world-carbon-dioxide-emissions-by-sector/

ส่วนอุตสาหกรรมการการผลิต เกษตรกรรม และยานยนต์ชนิดเครื่องยนต์สันดาป นั้นมียอดการปล่อยสูงเคียงคู่กันมาเรื่อย ๆ ในประมาณ 4–6 ตัน ปิดท้ายด้วยการใช้ที่ดินและป่าไม้ ขยะ และการขนส่งทางอากาศในปริมาณ 1.60 พันล้านตันต่อปี

จะเห็นได้ว่าทุกตัวการร้ายเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นได้ว่าอัตราการปล่อยก๊าซจากกิจวัตรประจำวันของคนทั่วไป อย่างการทิ้งขยะ ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก ขยะสดจากอาหาร และอีกมากมายหลายประเภทนั้นเทียบไม่ได้กับปริมาณที่ถูกปล่อยจากภาคอุตสาหกรรมใหญ่

หลายคนอาจเคยได้ยินนโยบาย ‘Carbon Credit’ ที่ภาคอุตสาหกรรมใหญ่หลายแห่งเข้าร่วมผ่านตลาดคาร์บอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ซึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทำได้ด้วยการลดก๊าซคาร์บอนด้วยการปลูกป่าเพิ่มเพื่อเก็บเครดิตในการปล่อยคาร์บอนให้กับอุตสาหกรรมของตัวเอง หรือจ่ายเงินเพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่ง Offset หรือการชดเชยเหล่านี้ อาจเป็นการสนับสนุนให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ในปริมาณที่เท่าหรือมากกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นแล้วระบบนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมได้ การมีป่าเพิ่มไม่ได้ลดผลกระทบการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ หรืออากาศ อย่างที่เราคนไทยต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 ที่ถูกปล่อนจากอุตสาหกรรมหลานภาคส่วนในทุก ๆ ปีตามฤดูกาล

นอกจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนแล้ว การเอาจริงเอาจังเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย Net Zero นั้นควรมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อบังคับใช้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จากเป้าหมายที่ประเทศไทยตั้งไว้ว่าจะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่า ภายในปีพ.ศ. 2593 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า ณ ตอนนี้กลับมีแต่นโยบายเลื่อนลอยที่จับต้องได้ยาก อีกทั้งขาดการคาดการณ์ถึงสถานการ์ล่วงหน้า เพราะกว่าจะถึงอีก 27 ปีข้างหน้าเป้าหมายที่โลกของเราต้องการอาจไม่ใช่เพียงแค่นี้

ภาครัฐควรหันมาสนับสนุนธุรกิจภาคเอกชนที่มุ่งแก้ไขปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น รวมทั้งจัดทำนโยบายที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชนมีความรับผิดชอบการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกมากกว่านี้ รัฐไม่ควรปล่อยให้การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความรับผิดชอบของธุรกิจเอกชนบางกลุ่ม ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และผู้บริโภคที่มีความต้องการเข้าถึงบริการ หรือสินค้าที่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

แม้ว่าการใช้สินค้าหรือบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงกว่าสินค้าบริการทั่วไปเนื่องด้วยต้นทุนที่สูงกว่า แต่เรายังไม่หมดหวังกันสักทีเดียว เพราะยังมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการเพื่อสังคมในไทยที่ร่วมกันมุ่งลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยกัน พัฒนาสินค้าและบริการให้ไปได้ไกลกว่าตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market)

ฟางไทย พี่ใหญ่ขอลุยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

‘ฟางไทย’ หนึ่งในผู้ประกอบการจากโครงการ SNOWBALL x SUP Challenge คือตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคมที่ผลักดันสินค้าให้ไปได้ไกลกว่าตลาดเฉพาะกลุ่ม เดิมทีธุรกิจของฟางไทยคือการแปรรูปฟางข้าวให้เป็นเยื่อกระดาษจำหน่ายและส่งออก

การนำฟางข้าวมาแปรรูปให้เป็นภาชนะรักษ์โลกทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกและโฟม โดยมีคุณสมบัติกันน้ำ และปราศจากสารเคมีในกระบวนการผลิต โดยคุณนุ๊ก จารุวรรณ คำเมือง มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแบรนด์ฟางไทยให้เป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าพ่อค้าร้านอาหาร หรือครัวเรือนทั่วไปด้วยราคาที่ย่อมเยาว์

โมเดลธุรกิจของฟางไทยเป็นตัวอย่างการจัดการฟางข้าวที่เหลือทิ้งจากเกษตรกรรมได้ดี เพราะแทนที่จะต้องเผาทิ้งสร้างมลพิษ การนำมาสร้างมูลค่าแปรรูปให้เป็นเยื่อกระดาษและบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ด้วยกระบวนการที่สะอาด ปราศจากสารเคมีและโลหะหนักลดการปนเปื้อนสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำและอากาศ จึงเป็นตัวอย่างการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ลดการสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแว้ดล้อมและระบบนิเวศจากต้นน้ำถึงปลายน้ำได้

ในวันนี้ฟางไทยอาจเป็นภาพฝันใหญ่ที่ธุรกิจเพื่อสังคมระดับเริ่มต้นหลาย ๆ แห่งทดภาพฝันนี้ไว้ หวังว่าวันหนึ่งจะไปให้ถึงเป้าหมายนี้ได้ ไรซ์ อิมแพคในฐานะผู้ทำโครงการ Snowball เองก็หวังว่ากระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงจากภาคธุรกิจเพื่อสังคมจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อต่อกรกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่เกินจะแก้ในระดับบุคคล

อ่านเรื่องราวของ ‘ฟางไทย’ เปลี่ยนฟางข้าวที่ถูกเผาให้กลายเป็นภาชนะรักษ์โลก

https://medium.com/@riseimpact/ฟางไทย-เปลี่ยนฟางข้าวที่ถูกเผาให้กลายเป็นภาชนะรักษ์โลก-95d387594cfe

เขียนและเรียบเรียงโดย: พรพิชชา ตันตระวาณิชย์

Reference

  1. Our World in Data (2020). Emissions by sector: Where do greenhouse gasses come from? How much comes from electricity, transport, and land use? Retrieved from https://ourworldindata.org/emissions-by-sector
  2. Statista (2023). Global carbon dioxide emissions from 1970 to 2022, by sector. Retrieved from https://www.statista.com/statistics/276480/world-carbon-dioxide-emissions-by-sector/
  3. Thai PBS (2023). โปรดทราบ! ไทยเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” เสี่ยงกระทบสุขภาพ. Retrieved from https://www.thaipbs.or.th/news/content/330934
  4. Thailand Environment Institute (2022) คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร. Retrieved from https://www.tei.or.th/th/article_detail.php?bid=129
  5. P.I.E.R Puey Ungphakorn Institute for Economic Research (2022). “Carbon neutrality” กับ “net zero emissions” ต่างกันอย่างไร? และมีความสำคัญอย่างไร? Retrieved from https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/

--

--