เมืองบอสตันกับการสร้างมหานครที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ตอนที่ 4 : ติดตามความคืบหน้า

RISE IMPACT
3 min readFeb 4, 2022

--

โครงการ Age-Friendly Boston กินเวลา 3 ปี แต่แทนที่จะประเมินผลโครงการครั้งเดียวในรอบสุดท้าย ทีมงานจะประเมินความคืบหน้าโครงการทุกปี และออกรายงานเพื่อบรรยายว่าเทศบาลบอสตันและพันธมิตรได้พัฒนาเมืองให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุแล้วในด้านไหนบ้าง และอย่างไร

วิธีที่ใช้ติดตามการทำงานคือ โครงการ Age-Friendly Boston จะมี “แผงหน้าปัด” ที่อยู่ในรูป spreadsheet ในแผงหน้าปัดนี้ ชิ้นงานสำหรับลงมือแต่ละชิ้นจะปรากฏอยู่ พร้อมกับชื่อของคนที่เข้าร่วม รายละเอียดความคืบหน้า และระบุว่า “ดำเนินการเสร็จสิ้น” ไปถึงขั้นไหนแล้ว ทีมงานจะใช้แผงหน้าปัดนี้เป็นข้อมูลสำหรับประชุมกันทุกไตรมาส เพื่อหารือกันถึงความคืบหน้าและเรื่องท้าทายระหว่างดำเนินโครงการ การใช้หน้าปัดรูปแบบนี้ยังช่วยให้การรายงานความคืบหน้าง่ายขึ้นมากอีกด้วย[1]

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่น่าจะใส่ไว้ไหนหน้าปัดด้วยคือชิ้นงานแบบ “พลอยได้” (spillover) ซึ่งเป็นงานที่สำเร็จเพิ่มเติมจากการลงมือทำนโยบายอื่น เช่น ระหว่างทำกำลังดำเนินการติดตั้งม้านั่งเพิ่มขึ้นอีก 25 ตัว คุณได้สานสัมพันธ์ใหม่กับสำนักงานโยธา และทำให้หน่วยงานนี้รู้ว่ามีโครงการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุอยู่ สำนักงานโยธาจึงได้ซ่อมแซมพื้นรองมั่งนั่งที่แตกหักหรือไม่สม่ำเสมอด้วย การทำเช่นนี้ช่วยให้เห็นว่าโครงการส่งผลกระจายไปกว้างกว่าชิ้นงานที่กำหนดเอาไว้ว่าต้องทำ

รายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

โครงการ Age-friendly Boston นำเสนอรายงานความสำเร็จทุกปี ซึ่งในตอนนี้ออกรายงานมาแล้ว 2 ปี คือฉบับปีแรก (2018) และ ฉบับปีที่สอง (2019) โดยรายงานแต่ละฉบับจะบอกเล่าถึงความคืบหน้าและเรื่องที่ทำสำเร็จไปแล้วในแต่ละประเด็น เนื่องจากในบทความตอนที่ 3 เราได้นำเสนอตัวอย่าง

ตัวอย่างความสำเร็จในเรื่อง “การสนับสนุนของชุมชนและบริการสุขภาพ” ในรายงานความสำเร็จฉบับปีแรก [2]

  • ด้านภาวะสมองเสื่อม : เทศบาลบอสตันได้ส่งเสริมให้ชาวเมือง 2,000 คน เข้าถึงทรัพยากรของเมืองในเรื่องภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ โดยจัดงานที่เกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ
  • ด้านการอยู่โดดเดี่ยวจากสังคม : เนื่องจากผู้สูงอายุ 38 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่คนเดียว ทีมงานในโครงการจึงได้ตั้ง “พันธมิตรช่วยเหลือผู้อยู่โดดเดี่ยวจากสังคม” ขึ้นกับสำนักต่างๆ ของเทศบาลและองค์กรในชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาทางเข้าช่วยเหลือก่อนที่ผู้สูงอายุเหล่านี้จะตกอยู๋ในภาวะวิกฤต นอกจากนี้ ยังได้สร้างแบบฟอร์มขึ่้นมาสำหรับส่งต่อเคส และสร้างฐานข้อมูลสำหรับการติดตามความเป็นอยู่ผู้สูงอายุและให้ความช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย
  • ด้านการเข้าถึงอาหาร : สำนักงานการเข้าถึงอาหารได้สร้าง resource map ที่มีข้อมูลตลาดซื้อตรงจากเกษตรกร (farmers market) สถานที่จำหน่ายอาหาร ร้านจำหน่ายอาหารราคาถูก สถานจำหน่ายอาหารเพื่อผู้สูงอายุ ที่ที่มีคนช่วยสมัครเข้าโครงการ SNAP (Supplemental Nutrition Assistance Program หรือที่รู้จักกันในชื่อ food stamp) และสถานที่จำหน่ายผักผลไม้ราคาไม่แพง ทีมงานโครงการโปรโมตแผนที่นี้ผ่านพันธมิตรที่ทำงานกับผู้สูงอายุ เข้าไปโปรโมตโดยตรง และโปรโมตตามงานอีเวนต์ต่างๆ คนที่ได้เห็นมักบอกว่า “โห ไม่รู้เลยนะเนี่ยว่ามีที่แบบนี้อยู่ใกล้แค่นี้เอง”

ตัวอย่างความสำเร็จในเรื่อง “การสนับสนุนของชุมชนและบริการสุขภาพ” ในรายงานความสำเร็จฉบับปีที่สอง [3]

  • ทีมงานได้เปิดตัวโครงการ “What Unite Us” โครงการนี้เชิดชูประสบการณ์ของชาวเมืองที่ย้ายถิ่นมาจากประเทศอื่นและการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี โดยใช้วัฒนธรรมและอาหารเป็นสื่อกลาง งานที่ผ่านมามีทั้งวัฒนธรรมและอาหารจากกาบูเวร์ดี เอเชียตะวันออก เฮติ และแอฟริกาตะวันออก งานนี้เกิดได้ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานการเข้าถึงอาหาร สำนักงานการส่งเสริมผู้อพยพย้ายถิ่น Boston Public Market และ Armenian Heritage Park
  • โครงการกำลังฝึกอบรบอาสาสมัครเพื่อให้บริการดูแลชั่วคราว (respite service) และจับคู่กับคนที่มีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในครอบครัว โครงการนี้ช่วยให้ผู้ดูแลได้หยุดพัก พร้อมกับมั่นใจว่าคนที่รักจะได้รับการดูแลจากอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี

นำเสนอทางเว็บไซต์

นอกจากจะนำเสนอความคืบหน้าผ่านรายงานทุกปีแล้ว Age Strong Commission ยังได้เผยแพร่รายละเอียดโครงการต่างๆ ในหน้าเว็บไซต์ด้วย

ตัวอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้ดูแลผู้สูงอายุ (https://www.boston.gov/departments/age-strong-commission/care-partner-support)
ตัวอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (https://www.boston.gov/departments/age-strong-commission/food-resources-older-people)
ตัวอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (https://www.boston.gov/departments/age-strong-commission/food-resources-older-people)

Age Strong Commission ออกนิตยสาร Boston Seniority เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ เช่น ข้อมูลการรับบริการจาก Age Strong Shuttle รถบัสที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ รองรับรถเข็นได้ เน้นให้บริการรับ-ส่งผู้สูงอายุที่มีนัดกับแพทย์และจับจ่ายใช้สอย โดยโทรนัดเวลาให้มารับ-ส่งล่วงหน้า [4]

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตามกำหนดเวลาของ Age-Friendly Boston Action Plan จะสิ้นสุดไปแล้ว และเมืองบอสตันได้เลือก Michelle Wu นายกเทศมนตรีคนใหม่เข้ามาแทน Martin Walsh ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ[5] แต่นายกเทศมนตรีคนใหม่นี้ก็ยืนยันว่า เธอจะพัฒนาเมืองบอสตันให้เป็นเมืองสำหรับคนทุกคนต่อไป

จากบัญชีทวิตเตอร์ของ Michelle Wu นายกเทศมนตรีคนใหม่เข้ามาแทน Martin Walsh

หลังจากที่เราได้ทราบภาพรวมของโครงการ Age-Friendly Boston แล้ว เราจะมาสำรวจกันว่า มีบทเรียนอะไรจากการดำเนินงานของเมืองบอสตันที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยสามารถนำมาใช้พัฒนาเมืองให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุมากขึ้น

เขียนบทความโดย : เมน ฐณฐ จินดานนท์

ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Policy Dialogue ประเด็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ที่ https://policy-dialogue.riseimpact.co/

Policy Dialogue คือ ชื่อเล่นของโครงการการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกระบวนการสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเชิงนโยบาย ที่ RISE IMPACT ร่วมทำกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยเราใช้กระบวนการที่ให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือไม่ใช่ภาครัฐ แต่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ มามีส่วนร่วม ‘รับฟัง-แลกเปลี่ยน-เข้าใจกัน’ เพื่อให้การเริ่มต้นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เป็นรูปธรรม

Notes

[1] Center for Social and Demographic Research on Aging Gerontology Institute (n.d.), Keys to Implementing Age-friendly Action

[2] City of Boston (2018), Age-friendly Boston Achievements: Year 1

[3] City of Boston (2019), Age-friendly Boston Achievements: Year 2

[4] Age Strong Commission (2021). Boston Seniority: Winter 2021. Issue 6 Volume 45

[5] นายกเทศมนตรี Michelle Wu ยังเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของเมือง และเป็นนายกเทศมนตรีของแรกที่เป็นคนผิวสีด้วย

--

--