เมืองบอสตันกับการสร้างมหานครที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ตอนที่ 3 : พร้อมลงมือทำ
เนื้อหานี้ส่วนใหญ่ดัดแปลงจาก Age-Friendly Boston Plan 2017
หลังจากประเมินความต้องการของชาวเมืองไปแล้ว ก็เข้าสู้ช่วงของการวางแผนลงมือทำเพื่อการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ โดยในขั้นแรก ทีมงาน Age-Friendly Boston Initiative ได้รวบรวมคนมาเป็นคณะทำงาน 8 ชุด ตามประเด็นการพัฒนา 8 เรื่อง คณะทำงานแต่ละชุดประกอบด้วยคนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น คนที่เป็นปากเสียงให้ชาวเมือง ผู้ให้บริการแก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนคร หน้าที่ของคณะทำงานแต่ละชุดคือการกำหนด “ชิ้นงานสำหรับลงมือทำ” (Action Items) เพื่อให้เป็นคำแนะนำสำหรับคณะกรรมการที่จะพัฒนา Age-Friendly Boston Action Plan (แผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ) ต่อไป
กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการนำความเชี่ยวชาญของคนที่มาร่วมในคณะทำงานแต่ละเรื่องมาใช้ในกระบวนการวางแผนเท่านั้น แต่คนเหล่านี้เองก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ที่ต้องนำแผนเหล่านี้ไปปฏิบัติด้วย การได้มีส่วนร่วมและเห็นพ้องไปด้วยกันจึงมีความสำคัญยิ่งยวด
หลังจากนั้น ทีมงานในโครงการ Age-Friendly Boston Initiative ก็จัดงานให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอีกสองครั้ง โดยเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้มีสองเรื่อง หนึ่ง เพื่อให้ชุมชนทราบผลการประเมินความต้องการและบอกให้ประชาชนรู้ว่ากำลังเข้าสู่ระยะของการลงมือทำจริงแล้ว สอง เพื่อให้ชาวเมืองได้ส่งเสียงว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องไหน ซึ่งชาวเมืองที่จะได้รับผลจากแผนปฏิบัติการ ก็จะได้เห็นชิ้นงานสำหรับลงมือทำ และยืนยันว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้ว
การจัดงานสองครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมราว 80 คน โดยมีผู้จัดคือองค์กรที่ทำงานกับชุมชน คณะกรรมการวางแผนปฏิบัติการ (Action Planning Committee) จะได้ทราบว่า ชาวเมืองลงคะแนนให้ชิ้นงานสำหรับลงมือในประเด็นไหนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
สำหรับคณะกรรมการวางแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาเมืองบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (คณะกรรมการวางแผนฯ) นั้น ประกอบขึ้นจากสมาชิกในชุมชน 12 คน หลายคนมีความเชี่ยวชาญในประเด็นเฉพาะ เช่น ที่อยู่อาศัยและการคมนาคม โดยคณะกรรมการชุดนี้ประชุมกันเจ็ดครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2016 และจัดทำข้อเสนอแนะและชิ้นงานสำหรับลงมือทำร่างแรกขึ้นมา
5 หลักการ 3 ประเด็นจับตา
ในช่วงการจัดทำแผนปฏิบัติการ มีประเด็นใหญ่หลายเรื่องที่ปรากฏขึ้นมาและเกี่ยวพันกับประเด็นการพัฒนาหลายเรื่องในคราวเดียว ประเด็นใหญ่เหล่านี้จึงกลายมาเป็น 5 หลักการสำหรับการนำแผนปฏิบัติการไปใช้จริง ได้แก่
- ความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม : กลุ่มคนผิวสีเป็นชุมชนที่จำนวนผู้สูงอายุจะเติบโตขึ้นเร็วที่สุด ดังนั้น ทีมงานจึงต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวเมือง โดยจะต้องมีความตระหนักรู้และเข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันไปในกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ต่างๆ
- คนหลายรุ่นต้องพึ่งพากัน : การพัฒนาเมืองบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ต้องตระหนักว่าความกังวลและเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของผู้สูงอายุ ก็เกี่ยวโยงโดยตรงกับความกังวลและเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของคนรุ่นที่เด็กลงมาด้วย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน เพื่อนบ้าน หรือมิตรสหาย ทั้งนี้เพราะเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุ จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชาวเมืองทุกช่วงวัย
- การสื่อสารที่ชัดเจนและเสมอต้นเสมอปลาย : การสื่อสารเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ชิ้นงานสำหรับลงมือทำแต่ละเรื่องสำเร็จได้ และยังเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาเมืองบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ
- สู้กับการเหยียดผู้สูงอายุ : ต้องหากลยุทธ์และแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อลดแนวคิดที่เหยียดผู้สูงอายุ (ageism) ทั้งนี้เพื่อให้บอสตันเป็นเมืองที่ได้ประโยชน์จากความสามารถและพลังของผู้สูงอายุ เพราะถึงที่สุดแล้ว เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุก็คือเมืองที่ตระหนักถึงคุณูปการที่ผู้สูงอายุสร้างแก่ชุมชน
- ผนึกกำลังเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ : บอสตันเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยองค์กรมากมายที่อุทิศตนทำงานกับผู้สูงอายุ โครงการ Age-Friendly Boston Initiative จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่แล้วกับองค์กรชุมชนและองค์กรที่ไม่แสวงกำไรเหล่านี้ นอกจากนี้ยังจะสร้างความเป็นหุ้นส่วนใหม่ๆ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
นอกจาก 5 หลักการที่โครงการนี้ใช้เป็นเข็มทิศในการนำนโยบายไปใช้จริงแล้ว โครงการนี้ยังอีก 3 ประเด็นจับตาที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในบอสตันอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ภาวะสมองเสื่อม ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และการอยู่โดดเดี่ยวจากสังคม โดยใช้สัญลักษณ์ [D] [E] และ [S] ในชิ้นงานสำหรับลงมือทำแต่ละเรื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชิ้นงานดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นจับตาดังกล่าว
- ภาวะสมองเสื่อม หรือ [D]ementia : รายงานประมาณการว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมแบบอื่นๆ ถึง 16.5 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้คิดเป็น 11,000 คนในปี 2015 [1] โดยการสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ย่อมเป็นการสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุไปโดยปริยาย โครงการ Age-Friendly Boston Initiative จึงให้ความสำคัญกับการสนองตอบความต้องการของคนที่มีภาวะสมองเสื่อมเป็นการเฉพาะเอาไว้ในแผนปฏิบัติการ
- ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือ [E]conomic insecurity : สถาบันพฤฒาวิทยา (Gerontology Institute) ที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ บอสตัน ได้พัฒนา ‘ดัชนีมาตรฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ’ (Elder Economic Security Standard Index หรือ ‘Elder Index’) ขึ้น โดยประเมินต้นทุนของปัจจัยทั้งหลายที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เช่น ที่อยู่อาศัย ระบบขนส่ง อาหาร และบริการสุขภาพ งานศึกษาพบว่ามีผู้สูงอายุกว่าครึ่งที่อยู่คนเดียวมีรายได้ต่ำกว่าดัชนีดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าผู้สูงอายุเหล่านี้มีรายได้น้อยกว่าต้นทุนที่ต้องใช้เพื่ออาศัยอยู๋ในเมือง [2] โครงการจึงได้กำหนดชิ้นงานเพื่อลงมือทำในแต่ละประเด็นขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในบอสตันใช้ชีวิตในเมืองได้โดยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
- การอยู่โดดเดี่ยวจากสังคม หรือ [S]ocial isolation : การอยู่โดดเดี่ยวจากสังคมมีความสัมพันธ์กับสุขภาพเทียบได้กับการสูบบุหรี่ [3] นอกจากนี้ การโดดเดี่ยวจากสังคมยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายอย่างทั้งทางกายและทางจิตใจ รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อการเกิดภาวะการรู้คิดบกพร่องและภาวะสมองเสื่อมด้วย [4] ชิ้นงานสำหรับลงมือทำหลายอย่างในแผนปฏิบัติการจึงมุ่งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เชื่อมต่อกับสังคมและมีส่วนร่วมกับชุมชน
หน้าตาของแผนปฏิบัติการ
ในประเด็นแต่ละเรื่องทั้ง 8 ประเด็น จะมีข้อเสนอแนะกว้างๆ ขึ้นมา ที่อิงจากการประเมินความต้องการ โดยในข้อเสนอแนะแต่ละเรื่อง จะแบ่งย่อยออกมาเป็น “ชิ้นงานสำหรับลงมือทำ” ที่เป็นรูปธรรมอีก ซึ่งชิ้นงานแต่ละอย่างก็เป็นผลจากการทำงานของคณะทำงานในประเด็นแต่ละเรื่อง และผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้วว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยโครงการจะใช้คำว่า “เราจะ . . .” ในชิ้นงานแต่ละชิ้น โดยเราในที่นี้หมายความรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ของเมืองและคนที่เป็นหุ้นส่วน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการนำชิ้นงานสำหรับลงมือทำแต่ละชิ้นไปปฏิบัติจริง นอกจากนี้ โครงการยังกำหนดหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ตัวชี้วัดสำหรับแต่ละชิ้นงาน รวมถึงกรอบเวลาด้วย โดยจะขอยกตัวอย่างข้อเสนอแนะหนึ่งในประเด็นเรื่อง “การสนับสนุนของชุมชนและบริการสุขภาพ” ดังตารางข้างล่างนี้
ที่มา : ดัดแปลงจาก Age-Friendly Boston Action Plan 2017
บทความตอนต่อไปจะพามาดูว่า เทศบาลนครบอสตันติดตามความคืบหน้าของแผนงานดังกล่าวอย่างไร และสื่อสารให้ประชาชนทราบความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
เขียนบทความโดย : เมน ฐณฐ จินดานนท์
ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Policy Dialogue ประเด็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ที่ https://policy-dialogue.riseimpact.co/
Policy Dialogue คือ ชื่อเล่นของโครงการการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกระบวนการสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเชิงนโยบาย ที่ RISE IMPACT ร่วมทำกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยเราใช้กระบวนการที่ให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือไม่ใช่ภาครัฐ แต่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ มามีส่วนร่วม ‘รับฟัง-แลกเปลี่ยน-เข้าใจกัน’ เพื่อให้การเริ่มต้นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เป็นรูปธรรม
References
[1] Massachusetts Healthy Aging Collaborative. (n.d.). Massachusetts Healthy Aging community profile: Boston. Retrieved from Tufts Health Plan Foundation website https://mahealthyagingcollaborative.org/data-report/explore-the-profiles/community-profiles/
[2] Li, Y, Xu, P, & Mutchler, J. and Center for Social and Demographic Research on Aging. (2017). 2016 Elder Economic Security Standard Index™ for Boston. Retrieved from University of Massachusetts Boston website http://scholarworks.umb.edu/demographyofaging/17
[3] Holt-Lunstad, J., Smith, T. B., Baker, M., Harris, T., & Stephenson, D. (2015). “Loneliness and social isolation as risk factors for mortality a meta-analytic review.” Perspectives on Psychological Science, 10(2), 227–237.
[4] Shankar, A., Hamer, M., McMunn, A., & Steptoe, A. (2013). “Social isolation and loneliness: relationships with cognitive function during 4 years of follow-up in the English Longitudinal Study of Ageing.” Psychosomatic Medicine, 75(2), 161–170.