เมืองบอสตันกับการสร้างมหานครที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ตอนที่ 2 : เรียนรู้ความต้องการของชาวเมือง
เมื่อจะเรียนรู้ . . .
หลังจากที่เมืองบอสตันได้กำหนดประเด็นการพัฒนาเมือง 8 เรื่องแล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อไปในการออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน คือการเรียนรู้และทำความเข้าใจความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อให้เข้าใจทั้งปัญหาของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ องค์กรเอกชนที่ทำงานกับผู้สูงอายุ และความยากลำบากที่ตัวผู้สูงอายุเองประสบในการดำเนินชีวิต โดยใช้วิธีการ 3 แบบเพื่อให้ได้ความเป็นที่ครอบคลุมและเหมาะกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มที่สุด
จัดวงรับฟังความเห็น
ในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงปี 2015 เมืองบอสตันและองค์กรภาคีได้จัดวงรับฟังความเห็นจำนวน 25 ครั้งในละแวกที่อยู่อาศัยทั่วเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับสภาวะประชากรที่มีความหลากหลายทั้งการใช้ภาษาและเชื้อชาติ ทางเมืองจึงได้จัดวงรับฟังความเห็น 3 ครั้งที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง กล่าวคือ เป็นวงรับฟังที่ใช้ภาษาสเปน ภาษาเฮติครีโอล และภาษาจีน โดยมีผู้สูงอายุมาร่วมให้ความเห็นรวมกันกว่า 800 คน
การจัดวงรับฟังความเห็นนี้เปิดกว้างให้สาธารณชนได้มาหารือกันว่าเมืองบอสตันมีข้อเด่น-ข้อด้อยอย่างไรสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังได้ช่วยกันชี้ให้เห็นว่าเมืองบอสตันมีโอกาสด้านไหนในการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุกว่าเดิม หลังจากนั้น ทีมงานก็ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลด้วยโปรแกรม NVivo 11 โดยแบ่งกลุ่มข้อมูลออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ คือ “ความท้าทาย” “ข้อเด่น” หรือ “ข้อเสนอแนะ” แล้วจากนั้นก็นำมาแบ่งต่อตาม 8 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ
แบบสอบถาม
ทีมงานได้แจกจ่ายแบบสอบถามให้ชาวเมืองบอสตันที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปตอบ โดยนักวิจัยได้พัฒนาคำถามใน 8 ประเด็นหลักร่วมกับผู้นำทีม Age-Friendly Boston ตัวแบบสอบถามมีทั้งที่เป็นกระดาษและแบบออนไลน์ ทั้งยังมีถึง 5 ภาษานอกเหนือไปจากอังกฤษ นั่นคือ ภาษาสเปน ภาษาเฮติครีโอล ภาษารัสเซีย ภาษากาบูเวร์ดี และภาษาจีน โดยชาวเมืองสามารถตอบแบบสอบถามได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2015 จนถึงเดือนมกราคม 2016 ทีมงานแจกจ่ายแบบสอบถามที่เป็นกระดาษออกไปตามงานอีเวนต์สำหรับผู้สูงอายุและสถานที่ต่างๆ รอบเมือง รวมถึงในวงรับฟังความเห็นทั้ง 25 ครั้งด้วย นอกจากนี้ยังได้ความร่วมมือจากองค์กรภาคีที่ทำงานกับผู้สูงอายุมาช่วยแจกแบบสอบถามด้วย ส่วนแบบสอบถามที่ตอบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ก็มาจากการติดต่อทางอีเมลผ่านกลุ่มก้อนต่างๆ เช่น สมาชิก AARP ที่อาศัยในบอสต้น รวมถึงการส่งโปสต์การ์ดที่มี URL ของแบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล
จัดโฟกัสกรุ๊ปสำหรับผู้ให้บริการวิชาชีพ
ทีมงานเริ่มจัดโฟกัสกรุ๊ปสำหรับผู้ให้บริการวิชาชีพในช่วฤดูใบไม้ผลิปี 2016 โดยแบ่งกลุ่มผู้ให้บริการเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- พนักงานของเทศบาลเมืองบอสตันจากทั้ง 9 สำนัก (11 คน)
- องค์กรผู้ให้บริการที่ได้รับทุนจาก Boston Area Agency on Aging (4 คน)
- องค์กรผู้ให้บริการอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดวงรับฟังความเห็นหรือช่วยประชาสัมพันธ์แบบสอบถาม (9 คน)
เป้าหมายของการจัดโฟกัสกรุ๊ปนี้คือการพัฒนาข้อมูลที่ช่วยให้จัดวางผลลัพธ์จากวงรับฟังความเห็นและแบบสอบถามให้มีบริบทแวดล้อม เพื่อดูว่าจะนำข้อมูลเหล่านี้มาทำเป็นแผนปฏิบัติการได้อย่างไร ทีมงานเลือกคนสามกลุ่มนี้มาทำโฟกัสกรุ๊ป เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ลึกซึ้งและมีมุมมองที่หาตัวจับยากในเรื่องประชากรสูงวัยของบอสตัน นอกจากนี้ สมาชิกขององค์กรและสำนักงานดังกล่าวจะเป็นกำลังสำคัญในการทำให้แผนการปฏิบัติแต่ละเรื่องเกิดขึ้นจริง การให้คนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นกระบวนการจึงเป็นเรื่องสำคัญ
. . . ก็จะเข้าใจความต้องการ
หลังจากประมวลผลการรับฟังความเห็นแล้ว ทีมงานก็ได้สรุปความต้องการของชาวเมืองไว้ตามประเด็น 8 เรื่อง ดังนี้
พื้นที่นอกอาคารและสิ่งปลูกสร้าง
ผู้สูงอายุให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อน การใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ และความรื่นรมย์รวมถึงสินทรัพย์ที่ธรรมชาติมอบให้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้บอสตันเป็นเมืองที่ใช้ชีวิตยามแก่ตัว อีกเรื่องที่สำคัญคือความรู้สึกว่าเมืองปลอดภัย เพราะเมื่อรู้สึกปลอดภัย ผู้คนก็จะสบายใจที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ได้ใช้และรื่นรมย์กับทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งชาวบอสตันมองว่านี่คือข้อเด่นของเมือง
อย่างไรก็ดี เสียงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ใจความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ การพัฒนาเมืองเดินได้ โดยเรื่องหลักๆ ที่คนสนใจคือสภาพทางเท้าและทางข้าม แม้ชาวเมืองจะมองว่าเรื่องนี้เป็นข้อเด่นของบอสตันอยู่แล้ว แต่ก็มองว่าเมืองควรยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและการทำให้ชาวเมืองเข้าถึงสถานที่หย่อนใจต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น คนที่ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่ง (48 เปอร์เซ็นต์) บอกว่า หาที่จอดรถยาก ซึ่งข้อมูลจากวงรับฟังความเห็นยังบอกด้วยว่า การหาที่จอดรถยากทำให้คนมาหาที่บ้านลำบาก โดยคนที่มาหานี้รวมถึงคนที่มาคอยดูแลผู้สูงอายุที่บ้านด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นย่อยอื่นๆ ที่คนสนใจดังนี้
- ผู้สูงอายุราว 1 ใน 3 ยังไม่พอใจเรื่องทางเท้าที่ปลอดภัยและการมีที่ทางให้นั่งพักระหว่างทาง
- ระยะเวลาของสัญญาณไฟคนข้ามมีเวลาไม่พอให้ผู้สูงอายุข้าม
- ยังมีห้องน้ำสาธารณะไม่พอในจุดที่เข้าได้สะดวก (50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม)
- แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 56 เปอร์เซ็นต์ จะบอกว่าสวนสาธารณะในบอสตันเป็นที่ที่ปลอดภัย (56 เปอร์เซ็นต์) แต่เมื่อแยกออกเป็นผู้ตอบที่มีความพิการกับผู้ที่ไม่มีความพิการ ผู้ตอบที่มีความพิการจะรู้สึกไม่ปลอดภัยกับสวนสาธารณะในชุมชนของตัวเองมากกว่าผู้ที่ไม่มีความพิการ (29 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 17 เปอร์เซ็นต์)
- ความรู้สึกว่าละแวกบ้านมีความปลอดภัยและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเห็นได้ชัด จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเวลาออกจากบ้าน
การคมนาคมขนส่ง
การเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ปลอดภัยและวางใจได้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชาวเมืองเดินทางไปที่ที่อยากไปและจำเป็นต้องไป ซึ่งช่วยให้ได้รับบริการและมีส่วนร่วมกับชุมชนตามความประสงค์
ผู้ที่เข้าร่วมวงรับฟังความเห็นบอกว่า การมีระบบคมนาคมขนส่งที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะในราคาที่จ่ายไหว และการเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ง่ายนั้น เป็นประเด็นที่พวกเขาให้ความสำคัญ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ก็พอใจกับระบบคมนาคมที่มีในเมือง ทว่าก็ยังมีเรื่องที่เป็นความท้าทายอยู่ เช่น :
- รถไฟใต้ดินมีบันไดเลื่อนน้อยเกินไป ผู้สูงอายุขึ้นบันไดไม่ไหว
- รถชัตเทิลบัสสำหรับผู้สูงอายุมีน้อยเกินไป
- รอรถมารับนานเกินไป ซึ่งอันตรายสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้เครื่องออกซิเจน
- ผลจากแบบสอบถามชี้ว่า ยังมีผู้สูงอายุที่มีความพิการจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงระบบคมนาคมขนส่งที่เหมาะสม
ที่อยู่อาศัย
ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งระบุว่า ในละแวกบ้านที่ตนอยู่ มีตัวเลือกที่อยู่อาศัยที่จ่ายไหวน้อยเกินไป ผู้ตอบแบบสอบถาม 63 เปอร์เซ็นบอกว่า ที่อยู่อาศัยแบบมีบริการต่างๆ ในตัวเป็นที่อยู่อาศัยประเภทที่ควรมีในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ โดยที่อยู่อาศัยแบบนี้มีทั้งที่อยู่อาศัยและบริการสังคมในตัว เช่น มีผู้จัดการรายกรณี (case management) รถรับส่งทางการแพทย์ หรือบริการเตรียมอาหาร
นอกจากนี้ก็มีประเด็นในเรื่องที่อยู่อาศัยอื่นๆ ที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้สูงอายุ ดังนี้
- ผู้สูงอายุอยากขายบ้านเพราะตัวเองแก่เกินกว่าจะดูแลบ้านหลังนั้นแล้ว แต่ต้องซ่อมแซมบ้านก่อน กลายเป็นว่าตัวเองก็ไม่มีเงินและธนาคารก็ไม่ให้กู้เงิน คงจะดีถ้าเมืองมีโครงการให้ผู้สูงอายุกู้เงินจำนวนไม่มากได้
การมีส่วนร่วมกับสังคม
การมีส่วนร่วมทางสังคมถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อผู้สูงอายุ เพราะการต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวส่งผลต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง หรือภาวะการรู้คิดบกพร่อง
แม้ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งจะบอกว่าตัวเอง “พอใจมาก” และ “พอใจ” กับโอกาสในการมีส่วนร่วมทางสังคม แต่ก็ยังมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1 ใน 5 บอกว่า “ไม่พอใจมาก” และ “ไม่พอใจ” กับโอกาสในการทำกิจกรรมนันทนาการ รวมถึงโอกาสในการได้พบปะพูดคุยกับคนอื่นและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการ ผู้เข้าร่วมวงรับฟังความเห็นบางคนยังบอกด้วยว่า อยากให้มีพื้นที่สำหรับให้ผู้สูงอายุได้มารวมตัวกัน เช่น อยากให้มีศูนย์ผู้สูงอายุ เพราะศูนย์ชุมชนในปัจจุบันเน้นตอบสนองความต้องการของคนอายุน้อยมากกว่า
การได้รับความเคารพและเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน
ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่ง (46 เปอร์เซ็นต์) บอกว่าตัวเองพอใจที่ผู้สูงอายุได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ แต่ก็มีผู้เข้าร่วมวงรับฟังความเห็นบอกว่า ตัวเองรู้สึกไม่ได้รับความเคารพเวลาที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะและบริการอื่นๆ ของชุมชน ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนก็พูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน เช่น “หลายคนมองข้ามหรือไม่ก็พยายามเอาเปรียบผู้สูงอายุ”
การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองและการจ้างงาน
แม้ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่ง (48 เปอร์เซ็นต์) จะเห็นด้วยว่า ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมให้ทำงานอาสาและมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่พอเป็นเรื่องการจ้างงาน กลับมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เห็นด้วยว่าในชุมชนของตัวเองมีโอกาสเพียงพอที่จะให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน
ผลจากการสำรวจความเห็นและวงรับฟังชี้ว่า ถ้าเมืองการสนับสนุนทางการเงินกับคนที่ทำงานอาสาในบอสตันมากกว่านี้ (เช่น เบี้ยเลี้ยงหรือคูปองต่างๆ) ก็น่าจะช่วยลดความต้องการงานลงไปได้
การสื่อสารและสารสนเทศ
ผู้สูงอายุจำนวนมาก (76 เปอร์เซ็นต์) บอกว่า รู้สึกว่าตัวเองได้รับข้อมูลข่าวสารว่าต้องทำอะไรบ้างเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะด้วยสภาพอากาศหรือเรื่องอื่นๆ แต่ก็ถือว่ายังมีช่องว่างอยู่ เพราะผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่ตอบว่าตัวเองรู้สึกว่าได้รับข้อมูลข่าวสารดังกล่าว มีสัดส่วนน้อยกว่า (68 เปอร์เซ็นต์)
การสนับสนุนของชุมชนและบริการสุขภาพ
ในประเด็นนี้ เรื่องที่ผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่พอใจ กันในสัดส่วนมากที่สุด คือเรื่องโอกาสที่จะได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (26 เปอร์เซ็นต์) และการเข้าถึงอาหารคุณภาพดีในราคาจ่ายไหว (25 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อบริการดูแลที่บ้าน (เช่น การช่วยทำงานบ้านและการดูแลสุขภาพที่บ้าน) และการช่วยสนับสนุนผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4 ใน 10 คนบอกว่าพอใจแบบ “กลางๆ” เช่นนี้อาจเป็นเพราะชาวเมืองบอสตันหลายคนยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับบริการดังกล่าว
นอกจากนี้ ข้อมูลจากแบบสอบถามยังชี้ว่า แม้บอสตันจะมีโครงการช่วยเหลือด้านต่างๆ แต่ผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือดังกล่าวมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มที่เข้าถึงโครงการดังกล่าวได้น้อย ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ มีคนตอบว่าพอใจกับการมีอาหารคุณภาพดีราคาจ่ายไหวแค่ 35 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มที่มั่นคงทางเศรษฐกิจตอบว่าพอใจถึง 60 เปอร์เซ็นต์
อีกเรื่องคือ แม้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะพอใจกับการเข้าถึงบริการสุขภาพทางกาย แต่พอเป็นเรื่องบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับจิตใจหรือพฤติกรรม สัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่พอใจกลับอยู่ในระดับต่ำ (39 เปอร์เซ็นต์)
หลังจากที่ได้ทราบความต้องการของชาวเมืองแล้ว ขั้นต่อไปก็เป็นการวางแผนและออกแบบนโยบายมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเราจะมาสำรวจขั้นตอนเหล่านี้ รวมถึงตัวนโยบายที่ได้ออกมากันในตอนต่อไป
เขียนบทความโดย : เมน ฐณฐ จินดานนท์
ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Policy Dialogue ประเด็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ที่ https://policy-dialogue.riseimpact.co/
Policy Dialogue คือ ชื่อเล่นของโครงการการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกระบวนการสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเชิงนโยบาย ที่ RISE IMPACT ร่วมทำกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยเราใช้กระบวนการที่ให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือไม่ใช่ภาครัฐ แต่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ มามีส่วนร่วม ‘รับฟัง-แลกเปลี่ยน-เข้าใจกัน’ เพื่อให้การเริ่มต้นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เป็นรูปธรรม