เมืองบอสตันกับการสร้างมหานครที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ตอนที่ 1 : เมืองบอสตันกับสถานการณ์สังคมสูงวัย

RISE IMPACT
3 min readJan 20, 2022

บอสตัน : จากบ่อเกิดเอกราช สู่มหานครแห่งความหลากหลายและผู้สูงอายุ

บอสตันถือเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐฯ เป็นเมืองหลวงของรัฐแมสซาชูเซตส์ นอกจากนี้ บอสตันยังเป็นเมืองหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดและมีความสำคัญในประวัติศาสตร์การสร้างชาติของชาวอเมริกัน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ Boston Tea Party ในปี ค.ศ. 1773 ซึ่งพลเมืองชาวบอสตันโยนชาที่มากับเรือขนส่งสินค้าของบริษัทอีสต์อินเดียของเจ้าอาณานิคมลงอ่าว เพื่อประท้วงมาตรการภาษีที่เอาเปรียบผู้นำเข้าชาชาวบอสตัน จนนำไปสู่สงครามประกาศเอกราชระหว่างปี ค.ศ. 1775–1783 [1]

ในปัจจุบัน นครบอสตันเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกตั้งอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นฮาร์วาร์ดหรือ MIT บอสตันเป็นหนึ่งในเขตมหานครที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในสหรัฐฯ แต่ประชากรของบอสตันเริ่มแก่ตัวลง เช่นเดียวกับเมืองใหญ่แห่งอื่นทั่วโลก ในสำมะโนประชากรปี 2010 บอสตันมีผู้อยู่อาศัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 88,000 คน คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในเมือง นอกจากนี้ ยังการประมาณการยังชี้ว่า พอถึงปี 2030 จำนวนผู้สูงอายุอาจเพิ่มขึ้นเป็น 140,000 คน หรือ 19 เปอร์เซ็นต์ของผู้อยู่อาศัยในเมือง [2]

นอกจากนี้ บอสตันยังเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์สูง โดยในปี ค.ศ. 2000 บอสตันกลายเป็นเมืองที่ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติของประเทศกินสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในเมือง (majority-minority city)[3] ทั้งนี้ ประชากรผู้สูงอายุของบอสตันเองก็มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน กล่าวคือ ระหว่างปี 2000–2010 จำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นคนผิวขาวที่ไม่ใช่ชาวฮิสแปนิก เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ผู้สูงอายุเชื้อชาติเอเชีย ชนพื้นเมืองฮาวาย หรือหมู่เกาะแปซิฟิก เพิ่มขึ้น 52 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจำนวนผู้สูงอายุผิวขาวที่ไม่ใช่ชาวฮิสแปนิกกลับลดลง 3 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ [4]

ความหลากหลายทางเชื้อชาตินี้ยังมาพร้อมกับสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุจำนวนมากใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่อง กล่าวคือ ผู้สูงอายุ 12 เปอร์เซ็นต์ ใช้ภาษาอังกฤษได้แบบกระท่อนกระแท่น อีก 27 เปอร์เซ็นต์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย นอกจากนี้ ผู้สูงอายุ 19 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุทั้งหมดในเมือง ยังอยู่ในบ้านที่สมาชิกทุกคนในบ้านที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไป พูดภาษาอังกฤษได้แบบกระท่อนกระแท่น ด้วยเหตุนี้ บริการล่ามจึงน่าจะจำเป็นต่อผู้สูงอายุกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนได้

นอกจากนี้ ยังมีสถิติและข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้สูงอายุในบอสตันที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่อีกหลายประการ ดังนี้

  • กว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุในบอสตันเป็นผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากประเทศอื่น
  • ผู้สูงอายุ 48 เปอร์เซ็นต์อยู่ในบ้านเช่า, 24 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในบ้านติดจำนอง
  • ผู้สูงอายุ 38 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ตัวคนเดียว, 26 เปอร์เซ็นต์ อาศัยกับคู่สมรสกันสองคน ยิ่งไปกว่านั้น ในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป มีถึงครึ่งหนึ่งที่อาศัยอยู่คนเดียว
  • ผู้สูงอายุกว่าครึ่งมีภาวะความดันโลหิตสูง และเกือบ 1 ใน 5 เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60–79 ปี จำนวน 29 เปอร์เซ็นต์มีความพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง, ผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 62 เปอร์เซ็นต์ มีความพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ นครบอสตันจึงต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายในเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมสูงวัย อาทิ จำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษาของผู้สูงอายุ และสุขภาพของผู้สูงอายุ

เมื่อทราบดังนี้ มาร์ติน เจ. วอลช์ (Martin J. Walsh) นายกเทศมนตรีนครบอสตัน ณ เวลานั้น จึงได้สั่งให้เริ่มดำเนินโครงการ Age-Friendly Boston Initiative ในปี 2014 โดยเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ โดยภารกิจสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้คือการดำเนินโครงการ การสำรวจและประเมินความต้องการของผู้สูงอายุในบอสตัน และออกแผนปฏิบัติการในชื่อ Age-Friendly Boston Action Plan

เปรียบกับกรุงเทพฯ

แม้บอสตันจะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่ แต่ก็ถือว่ามีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ อย่างมากทั้งในด้านจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่ แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ผู้สูงอายุคล้ายคลึงกับกรุงเทพในหลายด้าน โดยเฉพาะสัดส่วนผู้สูงอายุ (ดูได้จากตารางด้านล่าง) การศึกษาแนวทางที่เมืองบอสตันใช้เพื่อออกแบบนโยบายที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ จึงน่าจะเป็นแนวทางที่นำมาปรับใช้ได้ในเขตเทศบาลนครของประเทศไทยด้วย

กำหนดเข็มทิศ เรียนรู้ความต้องการ

เข็มทิศที่วอลช์ใช้ในการพัฒนาเมืองบอสตันให้กลายเป็นมหานครที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ คือการเข้าเป็นเป็นส่วนหนึ่งของ Age-Friendly Cities Network ขององค์การอนามัยโลก และสร้างพันธมิตจับมือกับ American Association for Retired Persons (AARP) แห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ องค์การอนามัยโลกนิยามว่า เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุคือเมืองที่ช่วยให้สร้างโอกาสให้ผู้คนได้มีสุขภาพดี มีส่วนร่วมกับชุมชน และมีความมั่นคงยามแก่ตัว ทั้งยังเป็นเมื่องที่ปรับโครงสร้างและบริการของเมือง ให้ผู้สูงอายุที่มีสมรรถนะและความต้องการแตกต่างกันสามารถเข้าถึงได้ โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นใหญ่ที่ส่งเสริมให้เมืองเป็นมิตรกับผู้สูงอายุเอาไว้ และนครบอสตันได้นำมาปรับเป็นประเด็นการพัฒนา 8 เรื่อง[5] ได้แก่

  • พื้นที่นอกอาคารและสิ่งปลูกสร้าง
  • การคมนาคมขนส่ง
  • ที่อยู่อาศัย
  • การมีส่วนร่วมกับสังคม
  • การได้รับความเคารพและเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน
  • การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองและการมีงานทำ
  • การสื่อสารและสารสนเทศ
  • การสนับสนุนของชุมชนและบริการสุขภาพ

ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของชาวเมืองที่แท้จริงในประเด็นต่างๆ เมืองบอสตันจึงได้ร่วมมือกับศูนย์การวิจัยสังคมและประชากรว่าด้วยการสูงวัย แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบอสตันนั่นเอง โดยในตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่าเมืองบอสตันและนักวิจัยใช้วิธีการไหนเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้คนในเมือง

เขียนบทความโดย : เมน ฐณฐ จินดานนท์

ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Policy Dialogue ประเด็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ที่ https://policy-dialogue.riseimpact.co/

Policy Dialogue คือ ชื่อเล่นของโครงการการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกระบวนการสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเชิงนโยบาย ที่ RISE IMPACT ร่วมทำกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยเราใช้กระบวนการที่ให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือไม่ใช่ภาครัฐ แต่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ มามีส่วนร่วม ‘รับฟัง-แลกเปลี่ยน-เข้าใจกัน’ เพื่อให้การเริ่มต้นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เป็นรูปธรรม

References

[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Boston; https://en.wikipedia.org/wiki/Boston_Tea_Party#Tea_Act_of_1773; https://en.wikipedia.org/wiki/American_Revolutionary_War

[2] Mutchler, Jan, Caitlin Coyle and Hayley Gleason. “Age-Friendly Boston: Assessing Needs to Chart a Course of Action” (2016). Gerontology Institute Publications. https://drive.google.com/file/d/0B4MAWZjMPPa2Wlllb1JzT1J0U1ZrVVIwOVVnV3JSVVJrZTh3/view?resourcekey=0-trbWtthF6ImjNeRnW7wSXQ

[3] นิยามการเป็น majority-minority area ของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไป โดยในสหรัฐอเมริกา หมายถึง พื้นที่ที่ประชากรผิวขาวที่ไม่ใช่ชาวฮิสแปนิกมีสัดส่วนน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด

[4] Mutchler, Jan, Bernard Steinman, Caitlin Coyle, Hayley Gleason, Jiyoung Lyu, and Ceara Somerville. “Aging in Boston: Preparing today for a growing tomorrow” (2014). Gerontology Institute Publications. http://www.umb.edu/demographyofaging

[5] อ้างแล้ว

[6] ตัวเลขส่วนใหญ่มาจาก สุรีย์พร พันพึ่ง และคณะ (2564). การพัฒนาแนวทางการดาเนินงานเพื่อให้เกิดการจัดการชุดข้อมูลทางสังคมและสุขภาพของประชาชน รายเขต (ภาพรวม 13 เขต) กรุงเทพมหานคร

[7] https://worldpopulationreview.com/us-cities/boston-ma-population

[8] https://worldpopulationreview.com/world-cities/bangkok-population

[9] กองยุทธศาสตร์สาธารณะและสิ่งแวดล้อม สยป. (2561). รายงานข้อมูลผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานครจากฐานประชากรในระบบทะเบียนราษฎร ณ เดือนธันวาคม 2561 และเปรียบเทียบกับข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2560

[10] Mutchler, Jan, Caitlin Coyle and Hayley Gleason. “Age-Friendly Boston: Assessing Needs to Chart a Course of Action” (2016). Gerontology Institute Publications. https://drive.google.com/file/d/0B4MAWZjMPPa2Wlllb1JzT1J0U1ZrVVIwOVVnV3JSVVJrZTh3/view?resourcekey=0-trbWtthF6ImjNeRnW7wSXQ

--

--