มันจะดีแค่ไหน ถ้าเราทุกคนมีหมอประจำตัว ?

RISE IMPACT
4 min readFeb 16, 2022

--

เมื่อยามเจ็บป่วย เชื่อว่าหลายคนเลือกไปโรงพยาบาลเพื่อรอพบแพทย์เฉพาะทาง แต่บางคนอาจประสบปัญหา ป่วยหลายอาการ ทำให้ต้องรอพบแพทย์เฉพาะทางหลายด้าน หรือบางคนกลับมารักษาอาการเดิมแต่พบหมอคนใหม่ ทำให้ต้องเริ่มซักประวัติ ตรวจร่างกายซ้ำ และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพได้สะดวก ครอบคลุม ต่อเนื่อง คล้ายกับการมี ‘หมอประจำตัว’ ที่คอยให้คำแนะนำทั้งอาการเจ็บป่วยไปจนถึงความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อ ‘ป้องกัน’ ไม่ให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ แทนการรอให้เจ็บป่วยรุนแรงแล้วไปโรงพยาบาล ซึ่งระบบที่เหมือนมี ‘หมอประจำตัว’ นี้เรียกว่า ‘ระบบบริการปฐมภูมิ’ หรือ ‘Primary Care’

Primary Care กับการดูแลให้เหมือนมี ‘หมอประจำตัว’

คอนเซปต์ของ primary care คือบริการสุขภาพที่ใกล้ตัวมากที่สุด สามารถดูแลได้อย่างต่อเนื่อง ดูแลครบทุกมิติทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษาโรคและฟื้นฟูสุขภาพด้านต่าง ๆ โดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นการจัดการในโรงพยาบาลเท่านั้น และยังสามารถประสานส่งต่อโรงพยาบาลในระดับต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็น

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คงเป็นการไปหาหมอ พยาบาล หรือการไปปรึกษาปัญหาสุขภาพกับเจ้าหน้าที่ใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้นจะทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ และคุ้นเคยกันกับผู้รับบริการสามารถจดจำประวัติการรักษาของคนไข้ได้ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง จึงช่วยประหยัดเวลาในการรักษาและสามารถให้คำแนะนำได้อย่างต่อเนื่อง หากมีจุดไหนที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางเพิ่มเติม จึงจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอหรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดตามความเหมาะสม

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือคนไข้จำนวนมากตัดสินใจไปโรงพยาบาลใหญ่เป็นลำดับแรก ทั้งที่บางอาการไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง กลายเป็นภาพการต่อคิวยาวในโรงพยาบาลและจำนวนหมอที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนคนไข้

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นที่มาของโปรเจกต์ พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care) และโครงการพัฒนาผู้ประสานการออกแบบบริการสุขภาพ ปฐมภูมิ (ผอบ.) โดย ‘นพ.มูหาหมัดอาลี กระโด’ หรือ ‘หมออาลี’ แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน และแพทย์ที่บุกเบิกงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ประจำโรงพยาบาลยะรัง จังหวัดปัตตานี

คอนเซปต์ของ primary care คือบริการสุขภาพที่ใกล้ตัวมากที่สุด สามารถดูแลได้อย่างต่อเนื่อง ดูแลครบทุกมิติทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษาโรคและฟื้นฟูสุขภาพด้านต่าง ๆ โดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นการจัดการในโรงพยาบาลเท่านั้น และยังสามารถประสานส่งต่อโรงพยาบาลในระดับต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็น

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คงเป็นการไปหาหมอ พยาบาล หรือการไปปรึกษาปัญหาสุขภาพกับเจ้าหน้าที่ใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้นจะทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ และคุ้นเคยกันกับผู้รับบริการสามารถจดจำประวัติการรักษาของคนไข้ได้ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง จึงช่วยประหยัดเวลาในการรักษาและสามารถให้คำแนะนำได้อย่างต่อเนื่อง หากมีจุดไหนที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางเพิ่มเติม จึงจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอหรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดตามความเหมาะสม

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือคนไข้จำนวนมากตัดสินใจไปโรงพยาบาลใหญ่เป็นลำดับแรก ทั้งที่บางอาการไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง กลายเป็นภาพการต่อคิวยาวในโรงพยาบาลและจำนวนหมอที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนคนไข้

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นที่มาของโปรเจกต์ พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care) และโครงการพัฒนาผู้ประสานการออกแบบบริการสุขภาพ ปฐมภูมิ (ผอบ.) โดย ‘นพ.มูหาหมัดอาลี กระโด’ หรือ ‘หมออาลี’ แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน และแพทย์ที่บุกเบิกงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ประจำโรงพยาบาลยะรัง จังหวัดปัตตานี

รากของปัญหา คือความเชื่อมั่น

เมื่อหมออาลีค้นไปยังต้นตอของปัญหาจึงพบว่า หนึ่งในสาเหตุที่ผู้คนข้ามไปรักษาในโรงพยาบาลทันที เป็นเพราะ ‘ความเชื่อมั่น’ ที่ขาดหายไปใน primary care

“ผมโตมากับสถานีอนามัย พ่อผมเป็นหมออนามัย (ปัจจุบันเรียกว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล : รพ.สต.) ผมเลยมีโอกาสได้เห็นว่าคุณพ่อดูแลคนไข้ยังไง อย่างคนไข้จากชุมชนละแวกบ้านปวดท้องมานอกเวลาราชการ คุณพ่อต้องประเมินให้ได้ว่า มีความเสี่ยงหรือมีภาวะที่อาจจะเกิดอันตรายหรือไม่ เช่น ปวดท้องที่สงสัยไส้ติ่งอักเสบ คุณพ่อต้องตัดสินใจภายใต้ข้อจำกัดของการทำงานในยุคที่หลายอำเภอยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ การเดินทางไปยังโรงพยาบาลจังหวัด ค่อนข้างลำบาก ชาวบ้านยังไม่มีรถส่วนตัวเหมือนเช่นปัจจุบันนี้

ภาพหมออนามัยแบบนี้น่าจะเป็นตัวแทนของ primary care หมายถึงในมิติของวิธีการทำงานนะ เพราะเป็นคนที่อยู่ใกล้คนไข้มากที่สุด คนไข้เข้าถึงได้ง่าย เขาก็ต้องมีความสามารถที่พอจะดูแลคนไข้ได้ ณ เวลานั้น ที่สำคัญคือความไว้วางใจจากคนไข้และชุมชนต่อตัวหมออนามัย ซึ่งจะส่งผลต่อการยอมรับระบบบริการปฐมภูมิ ตามไปด้วย”

“ปัจจุบันสิ่งที่เราขาดหายไปคือความไว้วางใจตรงนี้แหละครับ เหมือนตอนนี้เราเจ็บป่วยอะไรเราก็จะไปโรงพยาบาล เราแทบจะข้ามสถานีอนามัยไปเยอะพอสมควร แต่ถามว่าทุกโรคจำเป็นต้องเจอแพทย์ที่โรงพยาบาลไหม เช่น ปวดเมื่อยตามตัว, ท้องเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเกิดแผลขนาดเล็ก ตามทฤษฎีและวิธีปฏิบัติตัวควรเริ่มจากการดูแลตนเอง รักษาดูแลติดตามอาการ ร่วมกับใช้ยาสามัญประจำบ้านก็สามารถรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องไปพบแพทย์เลย หรือแม้แต่โรคเรื้อรัง ปัจจุบันนี้ ผู้ป่วยหลายรายที่ควบคุมอาการได้ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็สามารถรับการดูแลต่อเนื่องที่ รพ.สต.ได้ โดยพยาบาลประจำ รพ.สต. ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะให้พร้อมดูแลกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้และสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านทาง telemedicine ได้ ถ้ามีข้อสงสัยใด ๆ ระหว่างการดูแล…. แต่ก็ยังพบผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่ง เลือกไปรับบริการที่โรงพยาบาลแทน ซึ่งจะต้องรอนานกว่า คิวเยอะกว่า แม้กระบวนการดูแลไม่ต่างกันก็ตาม สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเชื่อมั่น ความเชื่อถือและไว้วางใจ อย่างที่เล่าไปข้างต้นเช่นกัน”

“เมื่อมีโอกาสได้ทบทวนถึงปัญหาที่เคยเห็นตั้งแต่วัยเด็ก ได้รับรู้ประสบการณ์จากคุณพ่อ รวมถึงการสัมผัสปัญหาจริงด้วยตนเองช่วง 10 ปีแรกของการทำงานในฐานะแพทย์ของชุมชน หมออาลีจึงตัดสินใจชวนทีมทำงานที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหามาด้วยกัน มาทำหนังสือ ‘Primary We Care คนปฐมภูมิหัวใจเพชร เวชศาสตร์ครอบครัว อ.ยะรัง จ.ปัตตานี’ ร่วมกัน เมื่อปีพ.ศ. 2560 เพื่อสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจและเห็นความสำคัญของ primary care มากขึ้น ซึ่งการทำหนังสือครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เขาเห็นปัญหาอีกหลายด้านของ primary care ในประเทศไทย

“เราดูแลในโรงพยาบาลแล้วมันไม่จบ คนไข้ก็ยังขาดการกินยาต่อเนื่องบ้าง ขาดคนดูแลบ้าง พอไปเยี่ยมบ้าน ก็พบว่ามีปัญหาซับซ้อนกว่าที่เห็น บางทีเป็นเรื่องของอาชีพ ของญาติ กว่าจะแก้ได้หนึ่งเคสก็ครึ่งปี บุคลากรหลายคนก็คงไม่เอาด้วย เพราะ productivity มันเทียบไม่ได้กับการตรวจแต่ละวันที่โรงพยาบาล เราไปข้างนอกบางทีครึ่งวันได้ 2–3เคส แต่ว่านั่นคือคุณภาพชีวิตสำหรับคนไข้และครอบครัว ซึ่งในช่วงแรก เราก็ต้องจัดสรรเวลาให้ยังสามารถรับผิดชอบภารกิจหลักในโรงพยาบาลไปด้วย จนกว่าผลลัพธ์จะเริ่มจับต้องได้มากขึ้น พอถึงวันนั้น เราก็จะมีโอกาสได้ทำงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ เราเลือกทางเส้นนั้นแล้ว ถ้าดูแลดี ๆ คนไข้ก็จะไม่กลับมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นอีก เราก็ดูแลคนอื่นต่อได้ ค่อย ๆ สร้างฐานความเชื่อมั่นไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็ลดการใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลในทางอ้อมอีกด้วย แต่บางโรคมันต้องมาจริง รักษาจริง อย่างอุบัติเหตุอะไรอย่างนี้”

เริ่มจากบุคลากร ก่อนผลักดันระบบ

หลังจากทำหนังสือ หมออาลีเริ่มอยากจะขยับมาลงมือทำโปรเจกต์อื่น ๆ ที่ช่วยผลักดันเรื่อง primary care มากขึ้น เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Positive Health Disruptor ด้วยความตั้งใจอยากจะเรียก ‘ความเชื่อมั่น’ คืนกลับมายังบุคลากรใน primary care อีกครั้ง ทว่าการปรับโครงสร้างของระบบสาธารณสุข หรือเพิ่มเนื้อหาในหลักสูตรการแพทย์ คงจะเป็นเรื่องที่เกินกำลังและเกิดขึ้นได้ยากในอนาคตอันใกล้

“ถ้างั้นเอาคนที่มีอยู่แล้วในระบบมาทำให้เขามีพลังมากขึ้น ทำให้เขามีทักษะในการประสานงานและการออกแบบ เพราะสิ่งที่คนข้างล่างทำตอนนี้คือทำตามข้างบนเสียส่วนใหญ่ บางอย่างเขารู้ แต่ไม่มีโอกาสได้ออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริงเขาจะไปต่อรอง ประสานงาน เขาก็ไม่มีโอกาสพัฒนาทักษะนั้นและยังขาดพื้นที่แห่งการรับฟังอย่างจริงจัง”

“ผมเชื่อว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคน มีความดีในตัวและตั้งใจดีที่จะช่วยดูแลคนในชุมชน แต่คนหน้างาน primary care อาจเหนื่อยล้า จากงานมาตลอดหลายปี อีกทั้งสถานการณ์โรคระบาด covid-19 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ไม่ได้มีโอกาสคิดออกแบบงานด้วยตนเองเลย ต้องทำงานตามแนวทางที่ถูกสั่งการลงมาเป็นทอด ๆ ทั้งที่พวกเขามีสิทธิ์ที่จะคิดแก้ปัญหางานต่าง ๆ ด้วยตนเอง

“ผมเลยพยายามหาวิธีกระตุ้นพลังบวกให้กลุ่มคนหน้างาน primary care ได้เห็นความสำคัญของงานที่พวกเขาได้ทำมาตลอดการยืนอยู่ท่ามกลางชุมชนภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ จนได้วิธีกระตุ้นพลังบวกด้วยการเรียนรู้และฝึกทักษะการเขียนสะท้อนย้อนคิด รวมถึงหลักสูตร “เขียน เปลี่ยน ชีวิต” และอีกหลายกิจกรรมของ อ.วรเชษฐ เขียวจันทร์ บริษัทปิ่นโตครีเอชั่น จนกลุ่มคนเหล่านี้ลุกขึ้นมาอย่างมีพลัง อยากจะพัฒนาตนเอง อยากจะพัฒนาระบบบริการ และอยากจะพัฒนาชุมชนที่ตนเองดูแลอยู่ต่อไปอีก”

“ถ้าคนหน้างาน primary care มีทักษะการประสานงานที่ดี อย่างน้อยเขาจะไปคุยกับทีมงาน โรงพยาบาลอำเภอที่ต้องทำงานควบคู่ไปด้วยกันได้ เผลอ ๆ อาจจะสามารถนำกระบวนการที่ออกแบบไปคุยกับแกนนำของโรงพยาบาลจังหวัด ที่ทำหน้าที่เป็นปลายทางของระบบบริการได้ เช่น เขาอยากจะคุยปัญหาเรื่องการดูแลคนไข้เป็นโรคไตเรื้อรังในชุมชน ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลจังหวัด ทำยังไงให้มันเกิดวงสนทนาเดียวกัน แล้วระบบการดูแลตั้งแต่โรงพยาบาลจังหวัด ยาวลงมาถึงชุมชนเลย”

“เพราะตอนนี้ถูกคิดในโรงพยาบาลจังหวัดแล้วส่งต่อให้โรงพยาบาลอำเภอ หรือร่วมกันคิดออกแบบ แล้วส่งต่อรายละเอียดให้ รพ.สต. ทำหน้าที่ดำเนินการกับคนไข้ในมุมของการรักษาตามที่วางไว้จากปลายทาง ทั้ง ๆ ที่หลายปัญหาของโรคเรื้อรังเหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงปัญหาของตัวโรค แต่ยังมีปัญหาใหญ่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของครอบครัวผู้ป่วยและวิถีชีวิตในชุมชน ซึ่งคนที่เข้าใจปัญหาเหล่านี้มากที่สุดคือบุคลากรที่อยู่ใน primary care ก็เลยปรึกษาอาจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ mentor หลักประจำตัวของผม ว่าวิธีนี้น่าสนใจและน่าจะพอเป็นไปได้

“อาจารย์จึงบอกว่า ขอตั้งชื่อให้เรียกง่าย ๆ ว่า ผอบ. (ผู้ประสานการออกแบบบริการสุขภาพ) ก็แล้วกัน ซึ่งเราตั้งใจจะให้เกิดการทำงานแบบใหม่ก่อน แล้วบริการใหม่จะเกิดขึ้นตามมาเอง”

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการนำ ‘Design Thinking’ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเป็น ‘แนวคิดและเครื่องมือ’ โดยคุณเมษ์ ศรีพัฒนาสกุล CEO บริษัท LUKKID ได้เข้ามาให้การช่วยสนับสนุนด้านแนวคิดและฝึกทักษะให้บุคลากร primary care แต่ละพื้นที่ได้นำไปปรับใช้กับการออกแบบการประสานงาน และการออกแบบแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยและประชาชนในแบบของทีมตัวเอง เพราะแต่ละพื้นที่ต่างก็มีปัญหาและบริบทที่แตกต่างกันออกไป โดยจัดกระบวนผ่านโครงการพัฒนาผู้ประสานออกแบบบริการสุขภาพ (ผอบ.) ในโครงการวิจัยการออกแบบระบบบริการสุขภาพในหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้สถานการณ์ Covid-19 : กรณีศึกษาพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสุขภาพ(สวรส.)และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)

แม้จะเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ แต่เขาก็เชื่อว่าจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้จะสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

“บุคลากรสุขภาพด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใด ระดับใด ก็ควรมองว่าอยู่บนเรือลำเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละส่วน เราไม่สามารถให้คนไปเทอยู่ที่หัวเรือได้หมด เราให้ทุกคนทำหน้าที่ต่างกัน เรือจะได้ไปถึงเป้าหมายและไม่จมระหว่างทางเสียก่อน”

“ขณะเดียวกันคนที่อยู่หน้างาน primary care ในช่วงที่ผ่านมาอาจจะชินกับการถูกสั่งการมาจนลืมว่าจริง ๆ แล้ว เราก็สามารถจัดการได้ ออกแบบได้นะ เราก็มีความเก่งนะ พอถึงเวลาก็ควรจะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่มันเป็นโอกาสของเรา ไม่ได้ไปแข่งกับใคร แต่ให้คนเห็นว่าเราก็มีตัวตน มีที่ยืน ทำได้นะ ส่วนประชาชน เราก็ควรมีระบบ มีการสร้างการรับรู้ของสังคมไปด้วยว่าเขาสามารถดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วยได้ เพื่อให้การพึ่งพาตนเองกับพึ่งพิงระบบบริการเกิดความสมดุลกัน”

เพราะมองเห็นความเป็นไปได้

แม้ว่าการพัฒนาระบบ primary care จะไม่ใช่เรื่องง่ายและใช้เวลานาน แต่หมออาลียังคงมุ่งมั่นจะสานต่อความฝัน เพราะเขาเห็น ‘ความเป็นไปได้’ จากการได้เริ่มลงมือทำในโครงการนี้

“ทั้งคอนเนคชัน ทั้งโอกาส การสนับสนุนมันทำให้สิ่งที่เราคิด มันเป็นจริงได้ แล้วรู้สึกว่ามันง่ายขึ้น สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ มันก็เกิดขึ้นได้ และสำหรับอาจารย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ไม่เคยมีคำว่า ‘แต่’ อาจารย์จะมีคำว่า ‘ต่อ’ อยู่เสมอ คือชวนผม challenge ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ อยู่ที่ผมว่าไหวหรือไม่ไหว เอาด้วยหรือไม่”

“การสนับสนุนเวลาของผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์หลาย ๆ ท่าน อย่างช่วงต้นของ program มี อาจารย์ ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ชวนให้ความเห็น ความรู้เกี่ยวกับ primary care ในมิติต่าง ๆ อย่างน่าสนใจจนผมคิดว่า เราควรจะเรียก primary care ว่า ‘ระบบสุขภาพหลัก’ เสียด้วยซ้ำ อาจารย์ยังได้ให้กำลังใจในการเริ่มต้นทำในสิ่งที่ยากแต่คุ้มที่จะลงมือทำอย่างเช่น project นี้

อาจารย์ นพ. อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) เป็นอาจารย์อีกท่านที่คอยให้คำแนะนำในมุมมองสำคัญของกระบวนการดูแลผู้ป่วยในระหว่างการเริ่มต้นพัฒนา project นี้ รวมถึงอาจารย์ ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่คอยสนับสนุนให้การดำเนินโครงการวิจัยสามารถเดินหน้าอย่างราบรื่น

การมีทีมงานดี ๆ ที่ช่วยให้ผมเข้าถึงและเข้าใจเงื่อนไขในชีวิตของคนไข้มากขึ้น ช่วยทำกระบวนการสื่อสารให้ง่ายขึ้น อย่างทีม Rise Impact และทีมสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งนำโดยพี่สุทธิกานต์ ชุณห์สุทธิวัฒน์ ช่วยสะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ให้ผมทำงานง่ายขึ้น เป็นการสนับสนุนเชิงกระบวนการคิด และช่องทางสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อพัฒนา project ตลอดจนการหาโอกาสเข้าไปปรึกษาหารือกับอาจารย์ผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน ที่ผมเองไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ในฐานะหมอภูธรจากชายแดนใต้”

“ผมเชื่อว่าเรามีชีวิตอยู่ บนโลกนี้เพื่อทำหน้าที่บางอย่าง เพราะฉะนั้นเราก็จงทำหน้าที่ตรงนั้นให้ได้ประโยชน์กับประชาชาติมากที่สุด อย่างเต็มความสามารถของเรา การได้มาทำสิ่งเหล่านี้ ผมไม่ได้เป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหา แต่ได้พาโอกาสมาให้คนอื่นต่อ ผมได้เป็นตัวเชื่อมโอกาสให้ทีมงาน ให้น้อง ๆ แพทย์รุ่นต่อ ๆ ไปได้โตขึ้น ซึ่งผมก็ดีใจไปด้วย”

แม้ว่าหนทางการพัฒนา primary care ยังคงดำเนินต่อไปอีกยาวไกลและดูเหมือนจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ ‘ทุกคน’ สามารถช่วยกันลงมือทำเพื่อผลักดันการพัฒนาระบบ primary care ในประเทศไทยได้ คือการดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี เพราะ ‘หมอประจำตัว’ ที่รู้จักร่างกายของเรามากที่สุด ก็คือตัวเราเอง

เขียนบทความโดย : ขนุน ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

ติดตามการพัฒนาระบบสุขภาพ และโครงการ Positive Health Disruptor ได้ที่
website : https://nhffellowship.wixsite.com/positive-disruptor
facebook : https://www.facebook.com/PositiveHealthDisruptor

--

--