‘ฟางไทย’ เปลี่ยนฟางข้าวที่ถูกเผาให้กลายเป็นภาชนะรักษ์โลก

RISE IMPACT
2 min readAug 17, 2022

--

ถ้าได้เดินทางไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาชีพหลักคือเกษตรกรรม เราอาจจะเห็นควันคลุ้งจากการเผาฟางข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพราะฟางข้าวเหล่านี้มีปริมาณมากเกินกว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือมลภาวะทางอากาศรวมทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน

‘ฟางไทย’ หนึ่งในผู้ประกอบการจากโครงการ SNOWBALL x SUP Challenge จึงนำฟางข้าวในพื้นที่จังหวัดลำปางมาแปรรูปให้เป็นเยื่อกระดาษ เพื่อส่งต่อไปยังโรงงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนจะขยับขยายมาผลิตสินค้าใหม่ที่ซื้อง่าย ใช้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถ้วย จาน ชาม จากฟางข้าวเหลือทิ้ง โดยยังคงคอนเซ็ปต์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการย่อยสลาย

เยื่อกระดาษจากฟางข้าว สู่ภาชนะรักษ์โลก

ย้อนไปราว 7–8 ปีที่แล้ว ท่ามกลางหมอกควันจากการเผากองฟางในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง นุ๊ก-จารุวรรณ คำเมือง เริ่มมีไอเดียอยากแก้ปัญหาเหล่านี้ เธอจึงศึกษาและลองผิดลองถูกเพื่อนำฟางข้าวมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่าในตัวเอง

จากครูสอนภาษาจึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักเรียน(รู้) ด้านการแปรรูปวัสดุและกลายเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว เมื่อเริ่มก่อตั้ง ‘ฟางไทย’ แบรนด์ที่นำฟางข้าวมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ

“ก่อนหน้านี้ฟางไทยผลิตเยื่อกระดาษ แล้วเรามีพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทขึ้นรูปวัสดุ (molding) บวกกับตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจเกี่ยวกับการงดใช้พลาสติก การงดใช้โฟม เราเลยคุยกับทางพาร์ทเนอร์ว่า ถ้าเราได้ทำผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด มันก็เป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะได้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกไปสู่ตลาด และช่วยลดการเผา ช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้นด้วยค่ะ”

ขณะที่นุ๊กกำลังสานต่อไอเดีย คือช่วงเวลาที่เริ่มมีโครงการ SNOWBALL x SUP Challenge พอดิบพอดี ด้วยจังหวะและโอกาสเลยทำให้นุ๊กตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการในโครงการนี้

เรารู้สึกว่าโครงการนี้ตรงกับพันธกิจและความตั้งใจของเราที่ต้องการหาวัสดุใหม่มาทดแทนบรรจุภัณฑ์อาหารโฟมหรือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาจจะเป็นวัสดุทางเลือก หรือวัสดุทดแทนในอนาคต แล้วการที่เรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายร้านอาหารของโครงการ เรามองว่าน่าจะช่วยให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ดีขึ้นในอนาคต เพราะเราได้ทราบความต้องการ ทราบปัญหา แล้วก็ได้รับโจทย์จากร้านอาหาร เพื่อพัฒนาสินค้าต่อไป แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงทดสอบ น่าจะวางจำหน่ายตามร้านจริงๆ ช่วงเดือนกันยายนนี้ (พ.ศ. 2565) เราเลยเข้าร่วมโครงการเพื่อจะทำการวิจัยตลาด (market research) ในเบื้องต้นก่อน”

“เราพบว่าแต่ละร้านมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แตกต่างกัน ถ้าเป็นร้านนั่งกินเล่น เขาก็จะต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกระดาษ ถ้าเป็นร้านแบบสั่งกลับบ้าน ก็อาจจะเป็นแบบกล่องมากกว่า เบื้องต้นเราเลยขอทำความเข้าใจกับทางร้าน ทราบความต้องการจริงๆ ของร้านก่อน แต่ที่เอาไปทดสอบตอนนี้จะใช้แบบเก่าที่ลูกค้าอินเดียเขาทำขายอยู่แล้ว เพราะเราก็ยังไม่มีงบประมาณที่จะทำแบบอื่นเพิ่ม เลยใช้แบบเดิมเพื่อเอาไปทดสอบกับลูกค้า สอบถามลูกค้าว่าดีไซน์แบบนี้ ไซส์แบบนี้ เหมาะกับเขาไหม เพราะร้านอาหารแต่ละประเภท แต่ละกลุ่ม อาจจะใช้รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป”

ดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต

แม้จะใช้วัสดุจากฟางข้าว แต่คุณสมบัติของภาชนะเหล่านี้นับว่ามีประสิทธิภาพไม่แพ้ภาชนะทั่วไปที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติกันน้ำ กันน้ำมันและสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ หากสิ่งที่ต่างออกไปคงจะเป็นกระบวนการผลิตที่มั่นใจได้ว่าไม่ใช้สารเคมี แถมจานชามเหล่านี้ยังสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้อีกด้วย

“ข้อได้เปรียบของเราคือเราผลิตตั้งแต่ตัววัตถุดิบไปจนถึงผลิตภัณฑ์เลย เพราะฉะนั้นเราจะรู้จุดแข็งของตัวเยื่อ คือไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ไม่มีสารเคมีตกค้าง ดังนั้นถ้าลูกค้ากังวลว่าจะมีคลอรีนปนเปื้อนไปใส่อาหารหรือเปล่า เป็นเยื่อที่สะอาดหรือเปล่า อันนี้เราสามารถอธิบายและพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นได้”

“เราทำงานกับลูกค้าญี่ปุ่นซึ่งเขาก็ค่อนข้างกังวลทั้งเรื่องความปลอดภัยต่อคน และสิ่งแวดล้อม เลยเอาสินค้าของเราไปทดสอบในแลปของเขา ซึ่งเราก็มีผลแลปจากทางญี่ปุ่นเหมือนกันว่าไม่มีพวกโลหะหนัก เพราะเรามีเทคโนโลยีผลิตและทำให้เยื่อบริสุทธิ์ หรือว่าสาร AOX (Adsorbable Organic Halogen) ที่ออกมาจากคลอรีนก็ไม่มีเช่นกัน เพราะเราไม่ใช้คลอรีนในกระบวนการผลิต”

สร้างทางเลือกและโอกาส

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม คือเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับฟางไทยที่กำลังพยายามก้าวผ่านความท้าทายนี้

“ในยุคข้าวยากหมากแพง ทุกคนอาจจะมองไว้ก่อนเลยว่าสินค้าใหม่ สินค้าทางเลือกจะราคาสูงกว่าสินค้าปกติ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่คอนเซปต์ที่เราตั้งใจ คืออยากให้เป็นสินค้าที่ราคาจับต้องได้ เพราะมองว่าทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เราไม่อยากให้คนที่มีความตั้งใจต้องตะกายซื้อสินค้า เพราะฉะนั้นตอนนี้เราเลยพยายามที่จะพัฒนา แล้วก็หากรรมวิธีคุมต้นทุนให้ได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกค้าทั้งๆ ที่เขามีความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนแปลง”

นอกจากเรื่องราคา นุ๊กมองว่าความท้าทายใหญ่ๆ อีกด่านหนึ่งคือการเข้าไปในตลาดที่มีสินค้ารูปแบบใกล้เคียงกันอยู่แล้ว

“เราเป็นทั้งแบรนด์ใหม่ ทั้งวัสดุใหม่ที่จะเข้าไปในตลาด อันนี้อาจจะเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง คือการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแล้วทำให้ลูกค้ายอมรับในสินค้าใหม่ เขาจะว้าวหรือว่าเขาจะกังวล ถ้าเราเจอลูกค้ากลุ่มนี้เราจะมีวิธีการโน้มน้าวยังไง เปลี่ยนวิธีคิดเขายังไง”

“เราอยากให้ร้านอาหาร ผู้ประกอบการ เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่เกี่ยวกับวัสดุทางเลือก หรือบรรจุภัณฑ์ทางเลือก เพราะเวลาพูดถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทุกคนก็จะมีคำถามแรกเลยว่าราคาเป็นยังไง ปลายทางตอนนี้หลังจากจบโครงการ SNOWBALL x Challenge แล้ว เราอยากผลิตสินค้าที่ทางร้านอาหารยอมรับราคาได้ ไม่รู้สึกขัดใจ แล้วก็มีภาพลักษณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

แม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วงพัฒนาสินค้า แต่เรื่องราวของฟางไทยก็นับว่าเป็นความหวังหนึ่งที่บ่งบอกกับเราว่า ยังมีอีกหลายธุรกิจกำลังพยายามพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ่ทีสามารถสร้างความสะดวกสบายไปพร้อมกับดูแลโลกใบนี้ได้ในเวลาเดียวกัน

เขียนบทความโดย : ขนุน ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

ติดตามโครงการ SNOWBALL x SUP Challenge ได้ที่
website : https://www.riseimpact.co/snowballsup
facebook : https://web.facebook.com/riseimpact.co

ติดตาม ฟางไทย ได้ที่
Linkedin : https://th.linkedin.com/in/jaruwan-khammuang-724a20147

--

--

RISE IMPACT
RISE IMPACT

No responses yet