เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย คุณภาพชีวิตก่อนวันสุดท้ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ

RISE IMPACT
3 min readDec 7, 2021

--

ในวันที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัวจากโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ‘นายแพทย์อุดมศักดิ์ บุญส่งทรัพย์’ หรือ ‘หมอเมี๊ยง’ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ ประจำโรงพยาบาลเลย จังหวัดเลย จึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มากกว่าการยื้อลมหายใจ แต่ยังรวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิต ลดความทุกข์ทรมานด้านร่างกายและจิตใจ โดยวิธีการดังกล่าวเรียกว่า ‘การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง’ หรือ ‘Palliative Care’

“เมื่อนานมากแล้ว ผมมีภาพจำภาพติดตาเลย เพราะคุณพ่อเป็นมะเร็งแล้วเสียชีวิตด้วยอาการทุกข์ทรมานมาก เราเคยสงสัยตัวเองว่า เราเป็นหมอเองทำไมเราทำอะไรไม่ได้เลย จนคุณพ่อเราเสียชีวิต มันคาใจตรงนี้มาตลอด”

“คนไข้ระยะท้ายจะมีอาการจำนวนหนึ่งที่รบกวนเขา เกือบทุกคนเลย เช่น ปวด หอบ เหนื่อย ถ้าไม่มี palliative care ก็จะผ่านช่วงสุดท้ายของชีวิตค่อนข้างยากมาก บางคนยาวนานกว่านั้น เช่น ใส่ท่อช่วยหายใจ แล้วเขาก็อยู่ทรมานไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเสียชีวิต”

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้หมอเมี๊ยงอยากพัฒนาระบบ Palliative Care จากก้าวเล็ก ๆ ในโรงพยาบาลเลย จังหวัดเลย สู่การเรียนรู้ร่วมกับโครงการ Positive Health Disruptor โครงการที่มุ่งพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ

การดูแลในช่วงสุดท้ายที่มากกว่า ‘การยื้อลมหายใจ’

ความรู้สึกจากวันที่สูญเสียยังคงติดค้างอยู่ในใจของหมอเมี๊ยง จนกระทั่งวันหนึ่งมีพยาบาลที่ผ่านการอบรมด้าน Palliative Care มาชวนให้เขาไปร่วมอบรมเพื่อนำความรู้มาปรับใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งหมอเมี๊ยงเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนั้นว่า

นอกจากเรื่องอาการรบกวนของคนไข้แล้ว หน้าที่หลักก็คือการวางแผนการดูแล (advanced care plan) กับคนไข้ กับญาติ ให้เขารู้ว่าโรคที่เป็นอยู่ หายหรือไม่หาย ทิศทางแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อจะได้วางแผนถูก เช่น ตอนนี้เป็นโรคนี้แล้วนะ อาการหนัก ญาติคนไข้จะได้รู้ว่า มีโอกาสที่คนไข้จะหยุดหายใจ ถ้าคนไข้หยุดหายใจ ตามหลักแล้วก็ต้องใส่ท่อ ถ้าใส่ท่อแล้วไม่หาย ก็ต้องยื้อไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ามีการวางแผนการดูแลล่วงหน้าให้ญาติรู้ ส่วนใหญ่พอรู้ว่าไม่หายแน่ ๆ เขาก็จะบอกว่า ขอไม่ใส่ท่อบ้าง ขอไม่ปั๊มหัวใจบ้าง แต่ว่าถ้าไม่มี Palliative Care ตรงนี้ก็จะไม่มีเช่นกัน”

“พอมาเรียนแล้วก็ทำให้รู้ว่า เฮ้ยจริง ๆ ถ้าวันนั้นเรามีความรู้ตรงนี้ คุณพ่อจะไม่เจ็บไม่ปวดมาก สามารถที่จะให้ยาตัวนี้ ๆ เพื่อให้ท่านจากไปอย่างสงบได้ มันก็เลยตอบโจทย์เก่าที่เคยค้างคาใจ เราก็เลยคิดว่า ถ้ากลับไปทำที่โรงพยาบาล น่าจะมีคนได้ประโยชน์จากตรงนี้อีกตั้งเยอะ”

หมอเมี๊ยงจึงเริ่มทำ Palliative Care ให้กับผู้ป่วยในโรคที่รักษาไม่หาย เช่น มะเร็ง ไตวาย ถุงลมโป่งพอง อัลไซเมอร์ ภายในโรงพยาบาลเลย โดยร่วมมือกับหมอเจ้าของไข้ที่ต้องการให้หมอเมี๊ยงเข้าไปช่วยดูแล

“คนไข้ทุกคนมีเจ้าของไข้ แต่เราเข้าไปช่วยดู โดยระบบก็คือหมอเจ้าของไข้ อนุญาตให้เราเข้าไปก่อน จากนั้นเราก็จะรับปรึกษา อย่างสมมุติว่าวันหนึ่งโรคมันไปต่อไม่ได้หรือว่าคนไข้สภาพไม่ดีแล้ว เขาก็จะมาปรึกษาแล้วเราไปช่วยดูแล เพราะฉะนั้น ถ้าเขาไม่ปรึกษา คนไข้ก็จะไม่เจอเรา”

ด้วยระบบดังกล่าว ทำให้มีคนไข้อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการ Palliative Care ได้ เช่นเดียวกับในหลายโรงพยาบาลที่แม้จะมีบริการนี้ แต่ยังคงไม่ครอบคลุมและไม่ทั่วถึง ผลที่ตามมานอกจากผู้ป่วยต้องทนทุกข์จากสภาพร่างกายแล้ว อาจทำให้เกิดบาดแผลใจจิตใจของคนในครอบครัว รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นและทรัพยากรบุคคลที่มาดูแลเพิ่มขึ้นไปด้วย

นอกจากนี้หมอเมี๊ยงยังพบว่าความท้าทายอย่างหนึ่ง คือการลบความเชื่อเก่าและสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ Palliative Care ทั้งกับแพทย์และญาติผู้ป่วย

“บางคนเข้าใจว่าจะให้ทิ้ง ไม่ให้รักษาคนไข้เหรอ จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น แต่เราจะหยุดการรักษาที่ไม่มีประโยชน์แก่คนไข้มากกว่า เพื่อให้เขาทุกข์ทรมานน้อยที่สุด ตรงนี้ก็จะค้านความเชื่อเก่าของคนเป็นหมอ ข้อนี้ก็ยากแล้วระดับหนึ่ง และยังมีความเชื่ออื่น ๆ เช่น การใช้ยาชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมอร์ฟีนที่พอคนได้ยินแล้วก็จะบอกว่า นั่นยาเสพติด ก็ไม่กล้าให้ ให้แล้วอันตรายนะ ชาวบ้านก็ไม่กล้ากินยา ก็จะมีความเชื่อชุดใหญ่ตรงนี้เลยที่ต้องค่อย ๆ แก้”

สู่โครงการ Positive Health Disruptor

เมื่อเริ่มลงมือทำ Palliative Care ได้ประมาณ 2–3 ปี หมอเมี๊ยงเริ่มรู้สึกว่าความคืบหน้าในเรื่องนี้ยังไม่เป็นไปตามที่หวัง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจเข้าร่วมโครงการ Positive Health Disruptor ด้วยความตั้งใจอยากจะนำทักษะที่ได้กลับมาใช้พัฒนาระบบภายในโรงพยาบาล

“พอเราทำงานพวกนี้มันก็มีเครือข่าย มีคนรู้จัก มีอะไรพวกนี้ เขาก็เลยแนะนำมา ตอนนั้นกำลังมีปัญหาพอดีว่าทำไมงานมันไม่ไปข้างหน้า เราอยากให้มันดีกว่านี้ แล้วเราก็ไม่รู้จะทำยังไง พอมีโครงการนี้เข้ามา ก็เลยลองดูสักหน่อย เผื่อว่าจะหาทางออกได้”

หมอเมี๊ยงเล่าว่าความเปลี่ยนแปลงแรกที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ได้หลายเดือน คือความเข้าใจปัญหาในเชิงระบบ

“โปรเจกต์นี้สอนให้เรามองภาพเชิงระบบเป็น ถ้าแต่ก่อนเราก็คิดว่าแก้เรื่องเดียวเลย แต่ว่าเอาจริง ๆ แล้วมันมีหลายปัจจัย เพราะว่ามันเป็นระบบที่ค่อนข้างซับซ้อน การเข้ามาร่วมกับ Rise Impact กับโปรเจกต์นี้ อาจจะยังไม่สามารถแก้ได้เลย แต่ว่าเราเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนได้มากขึ้น เข้าใจระบบมากขึ้น”

“หลังจากเราวิเคราะห์ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการแล้ว เราก็มาดูว่าตัวไหนที่มันสำคัญแล้วก็ทำได้ก่อน นั่นก็คือมุมมองของผู้ให้บริการต่อการดูแลแบบประคับประคองที่ควรจะต้องเปลี่ยนไป ถ้าแต่ก่อนการดูแลแบบประคับประคองแปลว่าคนไข้ใกล้เสียชีวิต แล้วค่อยมาเริ่มดูแล หรือแปลว่าเราจะไม่ดูแลเขาแล้ว อะไรพวกนี้ มันเป็นมุมมองของคนทำงานที่ทำให้เป็นอุปสรรค เพราะหมอบางคนจะรู้สึกว่าถ้าเราดูแลแบบประคับประคอง แปลว่าคุณหมอนี่ไม่เก่งแล้ว บางคนมองว่าคือการยอมแพ้แล้ว”

แม้ว่าหมอเมี๊ยงจะต้องการปรับเปลี่ยนมุมมองดังกล่าว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน คือการรับฟังและสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเข้าใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการปรับเปลี่ยนมุมมองเหล่านั้น

“จริง ๆ แล้วแต่ก่อนเริ่มสื่อสารเยอะมาก ร้อยแปดพันเก้าวิธี แต่เป็นแบบ passive คือเหมือนเราไปยัดเยียดเขา เช่น ต้องกินผักสิ รู้ไหมผักมันดีอย่างนี้ ๆ สุดท้ายเขาก็ไม่กินผักเหมือนเดิม แล้วเราก็ติดปัญหาอย่างนี้มาตลอด แต่เราเปลี่ยนวิธีการมองเชิงระบบ เราเข้าไปเรารู้จักคำว่า stakeholders มากขึ้น พอเราวิเคราะห์เขาเป็น เราก็เปลี่ยนวิธีที่จะ approach เขา เช่น การไปดู ไปคุยกับเขา เพื่อให้รู้ว่าเขามี pain point ตรงไหนที่ยังขาดอยู่ แล้วเราก็จะเข้าไปเสริมตรงนั้น ซึ่งก็ทำให้เขายอมรับเรามากขึ้น พอเขายอมรับเรา เห็นผลงานเรามากขึ้น เขาก็ให้โอกาสเราในการที่จะตามเราไปดูคนไข้มากขึ้น ไม่งั้นเขาก็จะรู้สึกว่า เราเป็นคนละพวกกับเขา”

สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือจากทุกฝ่าย

เมื่อเข้าใจระบบมากขึ้นและเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร ก้าวต่อมาของหมอเมี๊ยง คือการสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนในโรงพยาบาลเลย ก่อนจะขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในเขตสุขภาพ

“ที่ตั้งใจตอนนี้คือทำในส่วนที่เราดูแลให้ดีที่สุดก่อน แล้วก็อาจจะหาช่องทางเข้าไปนำเสนอในระดับเขต ให้เขาเห็นว่าประเด็นนี้สำคัญ แล้วก็มาปรับ คือจริง ๆ พอมีระบบเก่าอยู่แล้ว แต่ว่ามันทำงานได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เราอยากจะปรับให้ระบบแข็งแรงขึ้น แล้วก็อาจจะเอาโมเดลที่ทำไปขยายให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงในเขตสุขภาพที่เราดูแล อย่างคุณหมออยู่เขต 8 ประกอบด้วยจังหวัดเลย อุดรธานี สกลนคร หนองคาย นครพนม หนองบัวลำภู อะไรพวกนี้ครับ หมอก็วาดภาพว่าอยากให้ทั้งเขตมีระบบที่เข้มแข็ง อย่างถ้าคนไข้ไปรักษาที่อุดร หมออยากให้มีระบบที่ส่งคนไข้กลับมาแต่ละจังหวัดซึ่งได้รับการดูแลแบบต่อเนื่องกันได้เลย”

สิ่งที่หมอเมี๊ยงลงมือทำจึงนับเป็นก้าวแรก ๆ ที่สำคัญและหวังจะขยายสู่การแก้ปัญหาในวงกว้างและยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ชุมชนไปจนถึงนโยบายระดับประเทศ

คนไข้อยู่โรงพยาบาลก็ต้องมีการจัดการที่ดีให้คนไข้ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เหนื่อย มีการวางแผนการดูแลที่ดี จากนั้นเมื่อคนไข้มาอยู่ในชุมชนหรือในพื้นที่ ก็มีเครือข่ายตามไปเยี่ยม ไปดูแลที่บ้านได้ นี่เป็นระบบที่สอง แต่สองส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีวงใหญ่ ๆ อีกวงหนึ่งครอบอยู่ คือการสนับสนุนในระดับประเทศ เช่น นโยบายที่เหมาะสม การสนับสนุนการเงินที่ดี ทรัพยากรที่เพียงพอ เพราะถ้าไม่มี สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ยั่งยืน”

เมล็ดพันธุ์ที่รอวันเติบโต

ขึ้นชื่อว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ แน่นอนว่าต้องอาศัยความพยายามเพื่อให้เกิดสิ่งที่ต่างไปจากเดิม หลายคนจึงต้องเผชิญกับความรู้สึก ‘อยากล้มเลิก’ เช่นเดียวกับหมอเมี๊ยง เพราะเขาต้องรับผิดชอบงานในโรงพยาบาลไปพร้อมกับการเรียนรู้ ลงมือทำ ทั้งยังพยายามสร้างความเข้าใจด้าน Palliative Care ให้กับผู้คน

“ตอนนั้นสองปีกว่า ๆ แล้ว เหมือนเราปลูกต้นไม้มาตั้งนาน รดน้ำก็แล้ว ปุ๋ยก็ใส่แต่ไม่งอก แล้ววันหนึ่งเราเห็น เริ่มมีใบเขียว ๆ โผล่มาใบหนึ่ง เรารู้สึกมันเริ่มงอก อย่างวันที่เราเห็นคนไข้ได้ประโยชน์ ญาติคนไข้ได้ประโยชน์ เครือข่ายเริ่มเข้าใจแล้ว พยาบาลสามารถส่งคนไข้ไปได้แล้ว มันก็เลยทำให้เรามีแรงเดินต่อ แต่ในวันที่ต้นไม้ยังไม่ยอมงอก ถ้าขืนเลิกรดน้ำมันก็คงตายไปเลย พืชแต่ละชนิดมีการโตไม่เท่ากัน”

แม้เมล็ดพันธุ์ที่ชื่อว่า Palliative Care จะใช้เวลารดน้ำพรวนดินนานจนท้อ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและความเปลี่ยนแปลงในโรงพยาบาล เป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้หมอเมี๊ยงอยากจะรดน้ำพรวนดินเมล็ดพันธุ์นี้ต่อไป

“บางวันก็คิดจะเลิกทำจริง ๆ แต่ด้วยความที่ยังเห็นประโยชน์อยู่ ก็เลยยังทำต่อ เคยถามตัวเอง คุยกับตัวเองในกระจกเลยว่า ไม่ทำแล้วใช่ไหม แน่ใจนะ วันหลังกลับมาจะไม่เสียดาย ไม่ด่าตัวเองนะ แล้วเราก็กลับมาทำ เพราะเราไม่อยากรู้สึกแย่กับตัวเองทีหลัง ว่าทำไมวันนั้นเราไม่ทำ พอไปคุยกับคนอื่น ๆ (ในโครงการ) เขาก็เป็นแบบนี้ทุกคน เราก็ไม่เพี้ยนนี่ (หัวเราะ) เราเลยล้มแล้วก็ลุก”

เรื่องราวของหมอเมี๊ยงสะท้อนให้เห็นว่า แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากประสบการณ์และความสนใจส่วนบุคคล แต่เหตุผลที่เราอยากทำเพื่อคนอื่นต่อไป คงเป็นการที่ใครบางคนได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ หรือคนรอบข้างที่ยังคงเชื่อมั่น และเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกันกับเราอย่างที่หมอเมี๊ยงกล่าวว่า

“สิ่งที่ผมได้จากโปรแกรมก็คือ ความกล้าที่จะออกไปทำแม้รู้ว่ามันจะยาก พอเราเห็นความสำคัญ เราเทียบกับผลประโยชน์ที่มันเกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ เราคิดว่ามันคุ้มค่าที่จะลงมือทำสิ่งเหล่านี้”

_

เขียนบทความโดย : ขนุน ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

ติดตามการพัฒนาระบบสุขภาพ และโครงการ Positive Health Disruptor ได้ที่
website : https://nhffellowship.wixsite.com/positive-disruptor
facebook : https://www.facebook.com/PositiveHealthDisruptor

--

--